จาก แคลาย มาเป็น แคราย

          “พจนานุกรมวิสามานยนามไทย: วัด วัง ถนน สะพาน ป้อม” โดย กนกวลี ชูชัยยะ ราชบัณฑิตยสถานจัดพิมพ์เผยแพร่ บอกว่า แคราย เป็นชื่อสี่แยกบริเวณส่วนปลายถนนงามวงศ์วาน ตอนบรรจบกับถนนติวานนท์ในเขตอำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี สี่แยกดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อถนนทั้ง ๒ สายตัดกัน ประมาณ พ.ศ. ๒๕๙๐ เศษ 

          ด้วยความที่สี่แยกนี้มีการเขียนทั้ง แคลาย และ แคราย จังหวัดนนทบุรีได้มีหนังสือสอบถามราชบัณฑิตยสถาน ในชั้นแรกราชบัณฑิตยสถานได้ตอบทางจังหวัดให้ใช้ แคลาย เนื่องจากการสอบถามผู้มีพื้นเพในบริเวณดังกล่าวมานาน ทราบว่า มีต้นแคมากทั้งดอกสีขาวและสีแดง มองไกล ๆ คล้ายผ้าหลากสี

          ต่อมาราชบัณฑิตยสถานได้รับคำร้องเรียนให้ทบทวนชื่อสถานที่นี้จากประชาชนอยู่เสมอ และกรมทางหลวงได้มีหนังสือขอให้ตรวจสอบความถูกต้องระหว่าง แคลาย กับ แคราย จึงได้ตรวจสอบข้อมูลและหลักฐานต่าง ๆ เช่น วัดเสมียนนารี ซึ่งอยู่ริมถนนวิภาวดีรังสิต เดิมชื่อ วัดแคราย แต่ปรากฏว่าไม่มีความเกี่ยวข้องทางประวัติศาสตร์กับบริเวณสี่แยกดังกล่าว เนื่องจากตั้งอยู่ห่างไกลกัน ไม่ปรากฏชื่อบริเวณดังกล่าวในแผนที่ทางประวัติศาสตร์ หรือสารบบที่ดินและระวางแผนที่รุ่นโบราณที่สำนักงานที่ดินจังหวัดนนทบุรี อีกทั้ง แคลาย หรือ แคราย ก็มิได้เป็นชื่อหมู่บ้าน ตำบล หรือเขตการปกครองใด ๆ

          จึงเชื่อได้ว่าไม่มีชื่อ แคลาย หรือ แคราย ที่บริเวณดังกล่าวก่อนการตัดสี่แยก และจากการสอบถามผู้คนที่อาศัยบริเวณดังกล่าวก่อนการตัดถนนทั้ง ๒ สาย ทราบว่า บริเวณดังกล่าวมีต้นแคมากและขึ้นเรียงรายตามริมถนน ทั้งไม่ปรากฏว่ามีต้นไม้ตระกูลแคชื่อแคลาย หรือต้นแคที่มีดอกลาย

          หลักฐานคำบอกเล่าของผู้อยู่บริเวณดังกล่าวที่ตรงกันประการหนึ่ง คือ บริเวณดังกล่าวเป็นบริเวณที่มีต้นแคเรียงราย  จึงมีน้ำหนักที่น่าจะวินิจฉัยได้ว่า ควรเรียกบริเวณดังกล่าวว่า “สี่แยกแคราย”

รัตติกาล  ศรีอำไพ