ซุบหน่อไม้

          อาหารอีสานอย่างหนึ่งที่คนทั่วทุกภาครู้จักกันดี คือ อาหารจานที่ออกเสียงว่า [ซุบ–หน่อ–ไม้] และคนจำนวนไม่น้อยโดยเฉพาะร้านอาหารจะเขียนชื่ออาหารนี้ว่า ซุปหน่อไม้ หากลองพิจารณาลักษณะของซุปหน่อไม้ที่ว่านี้ เทียบกับซุปอย่างอื่น เช่น ซุปข้าวโพด ซุปผักขม ซุปไก่ หรือมิโซะซุปของญี่ปุ่น ก็จะเห็นความแตกต่างระหว่างซุปทั้ง ๒ อย่างนี้อย่างชัดเจน

          ซุปหน่อไม้ที่เป็นอาหารอีสานจะประกอบด้วยหน่อไม้ต้มฉีกเป็นเส้น ๆ ปรุงรสเปรี้ยว เค็ม เผ็ด ด้วยมะนาว น้ำปลา พริกป่น และข้าวคั่ว ส่วนซุปอย่างอื่นจะมีลักษณะเป็นของเหลว บางอย่างก็ข้น บางอย่างก็ใส บางทีก็มีสีสันคล้ายกันจนเดาไม่ออกว่าเป็นซุปอะไร

          ที่พยายามชี้ให้เห็นความแตกต่างของอาหารอีสาน “ซุปหน้อไม้” กับซุปอย่างอื่น ก็เพื่อต้องการจะบอกว่า อาหารอีสาน “ซุปหน่อไม้” จานเด็ดนั้นไม่ใช่อาหารประเภท “ซุป” ดังนั้น อาหารชนิดนี้จึงไม่น่าจะสะกดว่า “ซุปหน่อไม้”

          พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้นิยามคำว่า ซุป กับ ซุบ ไว้ดังนี้ ซุป เป็นคำนาม หมายถึง อาหารน้ำชนิดหนึ่ง ต้มด้วยเนื้อสัตว์หรือผัก เป็นต้น คำนี้มาจากภาษาอังกฤษว่า soup  ส่วนคำว่า ซุบ เป็นคำนามในภาษาถิ่นอีสาน หมายถึง ชื่ออาหารชนิดหนึ่งจำพวกยำ เรียกชื่อตามสิ่งของที่นำมาประกอบเป็นหลัก เช่น ซุบหน่อไม้ ซุบเห็ด

          บทนิยามข้างต้นเป็นสิ่งยืนยันได้อีกแรงหนึ่งว่า ซุบหน่อไม้ที่เป็นอาหารอีสาน คำว่า ซุบ ต้องสะกดด้วย บ ใบไม้ ไม่ใช่ ป ปลา เช่นเดียวกับอาหารอีสานจานอื่นเช่น ซุบเห็ด ซุบขนุน ก็ต้องสะกดว่า “ซุบ” ส่วน “ซุป” ที่สะกดด้วย ป ปลา ทับศัพท์มาจากภาษาอังกฤษว่า soup (ในภาษาอังกฤษออกเสียงสระเป็นเสียงยาว–อู)  คำว่า “ซุป” เป็นคำยืมจากภาษาต่างประเทศที่ใช้กันจนกลายเป็นคำไทยไปแล้ว พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ จึงได้เก็บคำนี้ไว้

          ถ้าสื่อสารคำว่า “ซุบ” กับ “ซุป” ได้ตรงกัน ก็จะได้รับประทานอาหารที่หวังไว้ ซุปหน่อไม้(ฝรั่ง) ก็จะไม่กลายเป็น ซุบหน่อไม้(ไทย)  ซุปเห็ด(แชมปีญอง) ก็จะไม่กลายเป็น ซุบเห็ด(ฟาง)

    แสงจันทร์  แสนสุภา