ตระพัง

         คำว่า ตระพัง มีรากศัพท์มาจากภาษาเขมรว่า “ตรฺพำง” (อ่านว่า ตรอเปียง) แปลว่า บ่อหรือสระน้ำที่ขุดขึ้นไทยเรารับเอาคำนี้มาใช้ในความหมายเดียวกัน แต่แปลงเป็นหลายรูปแบบ เช่น ตระพัง ตะพัง สะพัง กะพัง หรือ พัง. ส่วนใหญ่เป็นชื่อของสระน้ำในบริเวณสถานที่ หรือโบราณสถานที่เคยได้รับอิทธิพลจากขอมหรือเขมรโบราณ เช่น ในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย มีสระน้ำขนาดใหญ่อยู่ ๔ แห่ง เรียกชื่อว่า ตระพังเงิน ตระพังทอง ตระพังสอ และตระพังตะกวน ในเขตอำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ก็มีสระน้ำขนาดใหญ่อยู่แห่งหนึ่ง เรียกชื่อว่า สะพังนาก.

ที่มา :  บทวิทยุรายการ “รู้ รัก ภาษาไทย”  ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๐ เวลา ๗.๐๐-๗.๓๐ น.