ตารา

          หนึ่งในเทพีที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน คือ พระนางตารา  ซึ่งจะมีประวัติความเป็นมาอย่างไร และในปัจจุบันมีปางอะไรบ้างนั้น  พจนานุกรมศัพท์ศาสนาสากล อังกฤษ-ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๓ (แก้ไขเพิ่มเติม) อธิบายไว้ว่า.

          ตารา เป็นคำบาลีและสันสกฤต มาจากรากศัพท์ “ตร” แปลว่า “ข้าม” หมายถึง เป็นเทพีที่ช่วยขนสรรพสัตว์ข้ามโอฆสงสารหรือการเวียนเกิดเวียนตายในห้วงของกิเลส  มีตำนานเกี่ยวกับความเป็นมาของพระนางตาราอยู่หลายเรื่อง แต่ที่แพร่หลายมาก คือ ตำนานที่เล่ากันว่า หยาดน้ำพระเนตรของพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ที่หยดลงไปยังหุบเขาเบื้องล่าง  เกิดเป็นทะเลสาบขึ้น ท่ามกลางทะเลสาบนั้น มีดอกบัวผุดขึ้นมา เมื่อคลี่ขยายกลีบออก มีพระนางตาราประทับอยู่ภายใน ถือว่าพระนางตาราเป็นพระชายาของพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์

          ส่วนพระพุทธศาสนาฝ่ายทิเบตถือว่า  พระชายาชาวพุทธทั้งสองของพระเจ้าสองสันกัมโป (Tsrongsan Khampo)  เป็นอวตารของพระนางตารา คือ เจ้าหญิงเหว็นเชิง (Wen Cheng) พระธิดาของกษัตริย์จีน ทรงเป็นอวตารของพระนางตาราขาว  และเจ้าหญิงภริบสุน (Bhribsun)  พระธิดาของพระเจ้าอังศุวรมัน (Amsuvarman) กษัตริย์ชาวเนวาร์ (Newar) แห่งเนปาล ทรงเป็นอวตารของพระนางตาราเขียว

          นอกจากนี้ พบว่ารูปวาดของพระนางตาราขาวจะทรงชุดขาวล้วน และมีเอกลักษณ์เด่น คือ ทรงถือดอกบัวบานสีขาว  ส่วนพระนางตาราเขียวจะทรงชุดเขียวล้วน และทรงถือดอกบัวตูมสีน้ำเงิน เนื่องจากดอกบัวนั้นบานในเวลากลางวัน จึงเป็นสัญลักษณ์ว่า พระนางตาราขาวจะทรงโปรดสรรพสัตว์ในเวลากลางวัน  และพระนางตาราเขียวจะทรงโปรดสรรพสัตว์ในเวลากลางคืน  ต่อมาคติเกี่ยวกับพระนางตาราได้รับการพัฒนามากขึ้น  มีพระนางตาราแดง พระนางตาราเหลือง และพระนางตาราน้ำเงิน ซึ่งจะเป็นตัวแทนพระนางตาราในปางดุเพื่อปราบมาร   ส่วนพระนางตาราขาวและพระนางตาราเขียวเป็นปางสงบ.

       กนกวรรณ  ทองตะโก