ตุ๋น

          คำว่า ตุ๋น มาจากภาษาจีนแต้จิ๋ว ออกเสียงว่า [ตุ๋ง]. ตุ๋น เป็นวิธีการทำให้เปื่อยหรือสุกวิธีหนึ่ง โดยใช้หม้อ ๒ ชั้น วิธีตุ๋นคือเอาอาหารที่ต้องการทำให้สุกใส่ลงในภาชนะที่มีฝาปิด แล้ววางภาชนะนั้นซ้อนลงในภาชนะที่มีน้ำ ตั้งไฟให้เดือด โดยให้ความร้อนของน้ำเดือดสัมผัสกับภาชนะที่บรรจุอาหาร เช่น ตุ๋นไข่ ตุ๋นยา ตุ๋นข้าวกับผัก. อาหารบางอย่างมีลักษณะเหนียว ถ้าต้องการให้อาหารเปื่อยก็ใช้เวลาตุ๋นให้นานออกไป. อาหารที่ทำให้สุกโดยการตุ๋น จะคงคุณค่าทางอาหาร เพราะอยู่ในภาชนะที่มีฝาปิด. การตุ๋นต่างกับการนึ่งตรงที่การนึ่งจะใช้ความร้อนจากไอน้ำผ่านขึ้นมาสัมผัสกับอาหาร ส่วนตุ๋นนั้น สิ่งที่ตุ๋นจะอยู่ในที่ปิด และไม่ได้สัมผัสกับไอน้ำ

          เนื่องจากอาหารที่ผ่านการตุ๋นจะเปื่อย ด้วยเหตุนี้จึงนำมาใช้เป็นสำนวนหมายความว่า หลอกลวง ล่อลวงให้หลงเชื่อ เช่น ฉันโดนเพื่อนตุ๋นจนเปื่อย มาหลอกเอาเงินบอกว่าจะไปลงทุน แล้วกลับเชิดเงินหนีไป.

ที่มา :  บทวิทยุรายการ “รู้ รัก ภาษาไทย” ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๕ เวลา ๗.๐๐-๗.๓๐ น.