ถนนอักษะ 

          ถนนอักษะ คือชื่อเดิมของถนนอุทยาน “พจนานุกรมวิสามานยนามไทย : วัด วัง ถนน สะพาน ป้อม” โดย กนกวลี ชูชัยยะ ราชบัณฑิตยสถานจัดพิมพ์เผยแพร่ ระบุว่าคือ ถนนที่เชื่อมระหว่างพุทธมณฑลสาย ๓ ถึงถนนพุทธมณฑลสาย ๔ ในเขตทวีวัฒนา กรุงเทพมหานคร มีระยะทางประมาณ ๔ กิโลเมตร

          โครงการพุทธมณฑลและถนนอักษะ  เริ่มก่อสร้างใน พ.ศ. ๒๔๙๘ สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีเพื่อเฉลิมฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ (พ.ศ. ๒๕๐๐)  แต่ได้หยุดชะงักลงใน พ.ศ. ๒๕๐๐ เมื่อจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก่อรัฐประหารยึดอำนาจ โครงการพุทธมณฑลถูกรื้อฟื้นในสมัย พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เพื่อจะมีการสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี ใน พ.ศ. ๒๕๒๕ มาเสร็จสมบูรณ์สมัย พลเอก เปรม ติณสูลานนท์

          ส่วนถนนอักษะนั้นได้รับอนุมัติก่อสร้างสมัยนายบรรหาร ศิลปอาชา เป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการฉลองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี ใน พ.ศ. ๒๕๓๙ ถนนสายนี้ยาว ๓๘๖๐ เมตร ใช้งบประมาณ ๙๖๙๓๖๔๙๐๐ บาท เปิดให้ประชาชนใช้ได้ในวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๒

          อักษะ มาจากภาษาอังกฤษว่า Axis แปลว่า แกนกลาง ในสงครามโลกครั้งที่ ๒ เรียกกลุ่มประเทศอันประกอบด้วยเยอรมนี อิตาลี และญี่ปุ่น ว่า ฝ่ายอักษะ รบกับกลุ่มประเทศฝ่ายสัมพันธมิตร ที่ประกอบด้วยอังกฤษ สหรัฐอเมริกา และฝรั่งเศส

          เมื่อสร้างถนนเสร็จ กรุงเทพมหานครประสานงานกับกรมศิลปากร ให้ชื่อว่า ถนนอักษะ เนื่องจากเป็นถนนแกนกลางเชื่อมพุทธมณฑลสาย ๓ ถึงถนนพุทธมณฑลสาย ๔ ต่อมากรุงเทพมหานครกับกรมศิลปากร ขอพระราชทานชื่อถนนจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อถนนว่า “ถนนอุทยาน” และแม้จะเปลี่ยนชื่อถนนแล้ว ก็ยังได้ยินเรียกกันว่า “ถนนอักษะ” อยู่บ่อยครั้ง ทั้งจากบุคคลทั่วไป หรือจากทางสื่อมวลชน เช่น ผู้ประกาศข่าวสถานีโทรทัศน์ เมื่อเร็ว ๆ นี้.

รัตติกาล  ศรีอำไพ