ถนน  สะพาน  และเขื่อนที่มีคำ “พระราม”

          ชื่อถนน สะพาน และเขื่อนที่มีคำ “พระราม” นำหน้า แล้วตามด้วยตัวเลข  อาจทำให้ผู้ใช้สับสนว่าจะใช้คำ “ที่”  หรือไม่

          ชื่อถนน สะพาน และเขื่อนที่มีคำนำหน้าด้วย “พระราม” เป็นชื่อที่ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโดยชื่อถนนมีคำว่า “ที่” ต่อท้าย คือ ถนนพระรามที่ ๑  ถนนพระรามที่ ๔  ถนนพระรามที่ ๕  และถนนพระรามที่ ๖  ทั้งได้รับพระราชทานชื่อภาษาอังกฤษว่า  Rama I  Rama IV  Rama V  และ  Rama VI  ยกเว้นถนนพระราม  ๙  ปรากฏชัดเจนจากพระราชดำรัสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานแก่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและปลัดกรุงเทพมหานคร  เมื่อวันที่  ๑๙  กันยายน  พ.ศ.  ๒๕๓๙  ว่า ไม่มีพระราชประสงค์ให้มีคำ “ที่” ต่อท้ายคำ “พระราม” ซึ่งควรถือเป็นพระราชนิยมในรัชกาลปัจจุบัน  ในปัจจุบันถนนที่มีคำ “พระราม” นำหน้ามี ๗ สาย ได้แก่ ถนนพระรามที่ ๑  ถนนพระรามที่ ๒  ถนนพระรามที่ ๓  ถนนพระรามที่ ๔   ถนนพระรามที่ ๕   ถนนพระรามที่ ๖ และ ถนนพระราม ๙ ส่วนชื่อสะพานและเขื่อนนั้นจะไม่มีคำว่า  “ที่” ต่อท้ายคำ “พระราม”  ได้แก่  สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา  ๗  สะพาน  คือ สะพานพระราม  ๓  เชื่อมถนนรัชดาภิเษกฝั่งธนบุรีกับถนนพระรามที่ ๓  ฝั่งพระนคร  สะพานพระราม  ๔  ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของเกาะเกร็ด  อำเภอปากเกร็ด  จังหวัดนนทบุรี  สะพานพระราม  ๕ ตั้งอยู่บริเวณวัดนครอินทร์ อำเภอเมือง ฯ จังหวัดนนทบุรี  ในถนนแนวตะวันออก-ตะวันตก  เชื่อมต่อกับถนนติวานนท์-เพชรเกษม-รัตนาธิเบศร์  สะพานพระราม  ๖  ระหว่างเขตบางซื่อกับเขตบางพลัด  กรุงเทพมหานคร สะพานพระราม  ๗  เชื่อมระหว่างเขตบางซื่อ  กรุงเทพมหานคร  กับอำเภอบางกรวย  จังหวัดนนทบุรี สะพานพระราม  ๘  ตั้งอยู่ทางด้านเหนือของสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าและทางด้านใต้ของสะพานกรุงธนบุรี  เชื่อมต่อกับโครงการทางคู่ขนานลอยฟ้า  ถนนบรมราชชนนี  บริเวณแยกอรุณอมรินทร์ผ่านถนนอรุณอมรินทร์  ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาไปบรรจบถนนวิสุทธิกษัตริย์ใกล้กับธนาคารแห่งประเทศไทย  สะพานพระราม  ๙  เป็นส่วนหนึ่งของทางด่วนเฉลิมมหานคร  สายดาวคะนอง-ท่าเรือ  เชื่อมระหว่างเขตยานนาวากับเขตราษฎร์บูรณะ  กรุงเทพมหานคร  ส่วนเขื่อนพระราม  ๖  เป็นเขื่อนทดน้ำแห่งแรกของประเทศไทย  กั้นแม่น้ำป่าสักที่คุ้งยางนม  ตำบลท่าหลวง  อำเภอท่าเรือ  จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 

       นฤมล    บุญแต่ง