ทวารบาล

          ทวารบาล (อ่านว่า ทะ -วา-ระ -บาน) แปลว่า ผู้รักษาประตู. ในสังคมไทยนิยมทำทวารบาลเป็นรูปเทวดาถือพระขรรค์ยืนเฝ้าที่ประตู หรือวาดเป็นรูปเทวดานั้นบนบานประตูก็ได้. รูปของผู้ที่ยืนเฝ้าประตูนั้นบางทีจะเป็นรูปขุนนางจีน มีมงกุฎ ถืออาวุธ และสวมเกราะ บางรูปมีหนวดเคราแต่บางรูปก็ไม่มี มักให้ยืนอยู่บนหลังสิงโต บางแห่งทำเป็นรูปทหารฝรั่งสวมหมวกทรงสูง แต่มีหนวดเคราอย่างคนจีน เรียกชื่อว่า เซี่ยวกาง หรือ เขี้ยวกาง ซึ่งตามประวัติว่าเป็นขุนนางฝ่ายทหารของพระเจ้าหลีซีบิ๋นหรือพระเจ้าถังไท่จงสมัยราชวงศ์ถัง. ในคติทางฝ่ายมหายานมีทวารบาลอยู่มาก เรียกว่า กิมกาง เป็นคำที่แปลว่า เพชรหรือวัชระ. คำว่า เซี่ยวกาง ไม่ทราบที่มาและความหมายของศัพท์แน่ชัด. คำว่าทวารบาลออกเสียงเป็นสี่พยางค์ว่า ทะ -วา-ระ -บาน

ที่มา :  บทวิทยุรายการ “รู้ รัก ภาษาไทย” ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๒๒ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๓ เวลา ๗.๐๐-๗.๓๐ น.