ที่ดิน

          บนโลกเรานี้แม้ว่าจะประกอบไปด้วยน้ำถึง ๓ ใน ๔ ส่วน เหลือเป็นพื้นแผ่นดินเพียง ๑ ส่วน แต่ ๑ ส่วนนี้ก็เป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์และสัตว์โลกมากมาย เมื่อมีประชากรหนาแน่นขึ้น จึงต้องมีการจัดสรรที่ดินเพื่อไม่ให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบกันจนเกินไป เรามารู้จักความหมายของคำว่าที่ดินให้มากขึ้นสักนิดนะคะ

          ที่ดิน (land)  พจนานุกรมศัพท์เศรษฐศาสตร์  ฉบับราชบัณฑิตยสถาน อธิบายไว้ ๒ ความหมายดังนี้  ๑.  ตามทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ หมายถึง ปัจจัยการผลิตประเภทหนึ่ง  เป็นทรัพยากรที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ และนำมาใช้เพื่อการประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ซึ่งในที่นี้ทรัพยากรธรรมชาติจะหมายถึงทั้งสิ่งที่อยู่ในดินและเหนือพื้นดินด้วย เช่น แร่ธาตุ หิน ดิน ทราย น้ำ ป่าไม้ น้ำมัน และผลตอบแทนที่ได้รับจากที่ดินจะเรียกว่า ค่าเช่า  ๒. ในทางบัญชี  ที่ดิน หมายถึง แผ่นดินซึ่งอาจมีทรัพยากรธรรมชาติอยู่ภายใต้หรือเหนือพื้นดินและจะนำมาใช้ในการประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ เช่น เป็นที่ตั้งของอาคาร โรงงาน  การเพาะปลูก การเลี้ยงสัตว์

          เมื่อมีที่ดินก็ต้องมี เจ้าของที่ดิน (landlord) เป็นธรรมดา ในพจนานุกรมดังกล่าวอธิบายว่า หมายถึง  ผู้ที่เป็นเจ้าของที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่อยู่บนที่ดินนั้น ซึ่งจะได้รับผลตอบแทนในรูปของค่าเช่าจากการให้ผู้อื่นใช้ประโยชน์จากที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่เขาเป็นเจ้าของในการประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ค่าเช่าที่เจ้าของที่ดินได้รับอาจมาจากค่าเช่าแท้ ๆ หรือค่าเช่าที่มาจากการลงทุนในการปรับปรุงที่ดินนั้นด้วย เจ้าของที่ดินมักมีความสัมพันธ์กับผู้เช่าที่ดินตามกฎหมายเกี่ยวกับการเช่าที่ดิน และหลักประกันในการใช้ประโยชน์ในที่ดินนั้น

          นอกจากนี้แล้ว ในพจนานุกรมศัพท์เศรฐศาสตร์ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ยังเก็บคำที่น่าสนใจเกี่ยวกับที่ดินไว้อีกหลายคำ ขอเก็บไว้เล่าต่อคราวหน้านะคะ

          จินดารัตน์  โพธิ์นอก