ท่องเที่ยวอย่างรู้ “รักษ์” ธรรมชาติ

ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่มีชื่อเสียงในเรื่องการท่องเที่ยวติดอันดับโลก   โดยรูปแบบของการท่องเที่ยวที่เริ่มเป็นที่นิยมในขณะนี้คือ การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ  (eco-tourism)  ซึ่งจะแตกต่างจากการท่องเที่ยวทั่วไป  ตามความหมายของพจนานุกรมศัพท์ภูมิศาสตร์ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน คำว่า การท่องเที่ยว (tourism) หมายถึง การเดินทางของผู้คนจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง  เพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ  หรือเพื่อวัตถุประสงค์อย่างอื่นที่มิใช่เป็นการประกอบอาชีพประจำวัน  ในขณะที่ความหมายของการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ  หมายถึง  การท่องเที่ยวที่คำนึงถึงสภาพแวดล้อมและธรรมชาติ คือ ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม นักท่องเที่ยวรู้คุณค่าของทรัพยากรการท่องเที่ยว และมีความรู้ด้านการอนุรักษ์ ซึ่งอาจได้รับจากนักวิชาการ คนท้องถิ่น หรือมัคคุเทศก์  รัฐอาจมีบทบาทเป็นผู้กำหนดจำนวนนักท่องเที่ยวมิให้มีจำนวนมากจนทำลายสภาพแวดล้อมของแหล่งท่องเที่ยวนั้น

          ภาครัฐยังเล็งเห็นความสำคัญของการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ  ดังจะเห็นได้จากที่ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้ทบทวนแผนปฏิบัติการการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และผลักดันให้เกิดยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ  พ.ศ. ๒๕๔๘-๒๕๔๙ ซึ่งนับเป็นก้าวสำคัญในการผลักดันให้เกิดการท่องเที่ยวแนวใหม่ที่รณรงค์ให้มีการท่องเที่ยวที่เน้นการอนุรักษ์ธรรมชาติมากขึ้น  ทั้งนี้ ยังมีการท่องเที่ยวอีกประเภทหนึ่งที่น่าสนใจและให้นักท่องเที่ยวให้ความสำคัญกับวิถีชาวบ้าน วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม นั้นก็คือ การท่องเที่ยวแบบ “homestay”  ในพจนานุกรมศัพท์ภูมิศาสตร์ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ได้ให้คำบัญญัติและความหมายของ homestay  ไว้ว่า “เคหะพำนัก”  คือ  การจัดการท่องเที่ยวโดยให้นักท่องเที่ยวค้างแรมอยู่ตามบ้านเรือนของคนในท้องถิ่นตามรูปแบบการพักอาศัยของชาวชนบท  แทนที่จะพักอยู่ในโรงแรม  เหมาะสำหรับนักท่องเที่ยวที่ชอบเรียนรู้วัฒนธรรมและชีวิตความเป็นอยู่ของคนในท้องถิ่น และรักการท่องเที่ยวแบบเรียบง่าย ราคาไม่แพง  

          ถ้ามองจากภาพโดยรวมจะเห็นได้ว่าทั้งภาครัฐและเอกชนต่างก็ให้ความสนใจกับการท่องเที่ยว  แต่หากจะให้ความสำคัญในเรื่องของสภาพแวดล้อม  วัฒนธรรมด้วยแล้วก็ยิ่งดึงดูดใจนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติให้มาท่องเที่ยวเมืองไทยและได้รับความประทับใจกลับไปไม่รู้ลืม.

อิสริยา  เลาหตีรานนท์