ท่าช้างวังหลวง

          “ท่าช้างวังหลวง” หรือที่นิยมเรียกกันทั่วไปว่า “ท่าช้าง” ในปัจจุบัน เป็นท่าเรือตั้งอยู่สุดถนนหน้าพระลาน เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

          พจนานุกรมวิสามานยนามไทย : วัด วัง ถนน สะพานป้อม ของนางสาวกนกวลี ชูชัยยะ จัดพิมพ์เผยแพร่โดยราชบัณฑิตยสถาน ได้เล่าไว้ว่า ท่าช้างวังหลวง หรือเรียกว่า ท่าพระ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเป็นบริเวณประตูเมืองที่นำช้างซึ่งเลี้ยงไว้ในพระบรมมหาราชวัง หรือพระราชวังหลวง ลงอาบน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา จึงเรียกกันว่า ท่าช้างวังหลวง ต่อมาใน พ.ศ. ๒๓๕๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระศรีศากยมุนีจากสุโขทัยมาทางแพเพื่อมาประดิษฐานที่วัดสุทัศนเทพวราราม และพักแพที่ท่าช้างวังหลวงเพื่อประกอบพระราชพิธีสมโภชเป็นเวลา ๓ วัน แต่พระพุทธรูปไม่สามารถผ่านประตูเมืองบริเวณนี้ได้ จึงโปรดเกล้าฯ ให้รื้อประตูและกำแพงบางส่วนออก แล้วสร้างประตูใหม่พระราชทานนามว่า ประตูท่าพระ แต่ประชาชนยังคงนิยมเรียกกันว่า ท่าช้าง และท่าช้างวังหลวง  ปัจจุบัน “ท่าช้างวังหลวง” เป็นท่าเรือข้ามฟากซึ่งเอกชนได้เช่าจากรุงเทพมหานครมาดำเนินการ ส่วน “ท่าพระ” ปัจจุบันใช้เรียกท่าเรือฝั่งตรงข้ามกับท่าช้างวังหลวง และยังเป็นชื่อวังที่ตั้งบริเวณท่าช้างวังหลวงซึ่งเป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ คือวังท่าพระ ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยศิลปากร

          ส่วน “ท่าช้างวังหน้า” ซึ่งมีหลายคนสับสนกับ “ท่าช้างวังหลวง” นั้น แท้จริงแล้ว ท่าช้างวังหน้า เป็นท่าเรือตั้งที่ปากคลองคูเมืองเดิม ด้านเหนือปลายถนนพระอาทิตย์ เขตพระนคร ซึ่งแต่เดิมท่าช้างวังหน้าเป็นท่าเรือหลวง และเป็นท่าเรือโดยสารข้ามฟากไปสถานีรถไฟบางกอกน้อย ไปในคลองบางกอกน้อยและที่อื่น ๆ บริเวณที่เรียกว่า ท่าช้างวังหน้า เดิมอยู่ตรงประตูท้ายพระราชวังบวรสถานมงคลหรือวังหน้าหรือท้ายวัดบวรสถานสุทธาวาส ต่อมา พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้รื้อกำแพงพระนครทางใต้ปากคลองคูเมืองเดิมแล้วสร้างเป็นประตูสำหรับให้ช้างลงอาบน้ำ  ส่วนท่าช้างเดิมเปลี่ยนเรียกว่า ท่าขุนนางวังหน้า ซึ่งปัจจุบันท่าช้างวังหน้าไม่ปรากฏร่องรอยเดิม เหลือเพียงแต่ชื่อเท่านั้น.

         อิสริยา เลาหตีรานนท์