ท้าว กับ เท้า

          คำว่า ท้าว กับ เท้า เป็นคำที่ผู้ใช้ภาษาไทยมักใช้สับสนกันอยู่เสมอ  จึงขอนำมาอธิบายผ่านคอลัมน์นี้ เพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกัน

          คำว่า ท้าว เป็นได้ทั้งคำนามและคำวิเศษณ์  ถ้าเป็นคำนาม หมายถึง ผู้เป็นใหญ่หรือพระเจ้าแผ่นดิน (โดยมากพบใช้ในบทกลอน) เช่น ท้าวพญา ท้าวพระยา  หรือหมายถึง ตำแหน่งบรรดาศักดิ์ข้าราชการฝ่ายใน เช่น ท้าวนาง  และถ้าเป็นคำวิเศษณ์ หมายถึง อาการสั่นรัว ๆ (โดยมากพบใช้ในบทกลอน) เช่น ความกลัวตัวสั่นอยู่ท้าวท้าว  นอกจากนี้ คำว่า ท้าว ในภาษาถิ่นอีสานยังใช้เป็นคำประกอบชื่อผู้ชายที่เป็นเชื้อสายเจ้าหรือขุนนางด้วย เช่น ท้าวฮุ่ง 

          ส่วนคำว่า เท้า เป็นได้ทั้งคำนามและคำกริยา  ถ้าเป็นคำนาม หมายถึง ตีน  หรือใช้เป็นคำเรียกขาโต๊ะ ขาตู้ เช่น เท้าคู้ เท้าสิงห์  และถ้าเป็นคำกริยา หมายถึง ยัน เช่น ยืนเอามือเท้าโต๊ะ เอามือเท้าเอว  หรือหมายถึง อ้างถึง เช่น เท้าความ

          นอกจากคำว่า เท้า จะปรากฏใช้ตามลำพังโดยมีความหมายตามที่อธิบายไปข้างต้นแล้ว  คำว่า เท้า ยังปรากฏใช้กับคำอื่นด้วย แต่มีความหมายที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น

          เท้าแชร์ หมายถึง ผู้เป็นหัวหน้าวงแชร์ มีหน้าที่จัดการและรับผิดชอบเรื่องเงิน ตามปรกติจะเป็นผู้ได้เงินเป็นคนแรกโดยไม่เสียดอกเบี้ย

          เท้ายายม่อม หมายถึง ชื่อไม้ล้มลุกชนิดหนึ่ง หัวหรือเหง้ามีสัณฐานกลมแบน ใช้ทําแป้งเป็นอาหารได้ เรียกว่า แป้งเท้ายายม่อม.

                                                                                                         พรทิพย์  เดชทิพย์ประภาพ