นคราภิวัฒน์

          คำว่า นคราภิวัฒน์ หรือ ความเป็นเมือง การขยายเมือง เป็นศัพท์บัญญัติของคำภาษาอังกฤษว่า  urbanization  ซึ่งคณะกรรมการจัดทำพจนานุกรมศัพท์ประชากรศาสตร์  แห่งราชบัณฑิตยสถาน อธิบายว่า ในทางประชากรศาสตร์ หมายถึง การที่สัดส่วนของประชากรที่อยู่ในเขตเมืองเพิ่มมากขึ้น  สาเหตุสำคัญที่ทำให้ประชากรเมืองเพิ่มมากขึ้น ได้แก่ การที่ประชากรชนบทย้ายถิ่นเข้ามาอยู่ในเขตเมืองเพิ่มมากขึ้น ภาวะเจริญพันธุ์ของประชากรที่อยู่ในเมืองก่อนแล้ว และของผู้ย้ายถิ่นที่เข้ามาอยู่ใหม่ก็มีส่วนทำให้ประชากรในเขตเมืองเพิ่มขึ้นอย่างมาก  นอกจากนั้นการขยายพื้นที่เขตเมืองออกไปครอบคลุมพื้นที่ซึ่งเคยเป็นเขตชนบทอยู่ก่อน รวมทั้งการเปลี่ยนนิยามของเมือง ก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้สัดส่วนของประชากรในเขตเมืองเพิ่มสูงขึ้น 

          สถิติเกี่ยวกับความเป็นเมืองจะแสดงภาพการกระจายตัวประชากร (population distribution) ตามเขตที่อยู่อาศัย  ตัวชี้วัดระดับความเป็นเมือง (degree of urbanization) ที่ใช้กันมากที่สุดคือ ร้อยละของประชากรเมือง  ซึ่งหมายถึง ร้อยละของประชากรเมืองต่อประชากรทั้งหมด  บางครั้งการนำเมืองใหญ่ ๆ ในประเทศหรือภูมิภาคมาเรียงลำดับตามขนาดประชากร หรือการทำแผนที่แสดงที่ตั้งของเมืองต่าง ๆ ก็แสดงให้เห็นภาพการกระจายตัวของประชากรและความเป็นเมืองได้อย่างชัดเจน  ขนาดประชากรของเมืองต่าง ๆ ในแต่ละประเทศ เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจในการศึกษาเรื่องความเป็นเมือง  บางประเทศมีเมืองใหญ่โดดเด่นอยู่เพียงเมืองเดียว ซึ่งอาจเรียกว่าเป็น  เอกนคร (primate city)

          ความเป็นเมืองในประเทศไทยได้ขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็วในรอบครึ่งศตวรรษที่ผ่านมานี้  ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากการยกฐานะเขตการปกครองที่เคยเป็นสุขาภิบาลให้เป็นเขตเทศบาลตามกฎหมาย ประชากรในเขตเทศบาลหรือประชากรเมืองจึงเพิ่มขึ้นชั่วข้ามคืน จากประมาณร้อยละ ๒๐ เป็นร้อยละ ๓๐ อันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนนิยามของคำว่า “เทศบาล” นั่นเอง

          จินดารัตน์  โพธิ์นอก