นาก กับ นาค

          หากออกเสียงว่า “นาก” ขึ้นมาลอย ๆ ก็จะทำให้แยกไม่ออกว่า สะกดด้วย “ก” หรือ “ค” คือ สะกดว่า “นาก” หรือ “นาค” กันแน่ เพราะทั้ง ๒ คำนี้เป็นคำพ้องเสียง แต่มีความหมายที่ต่างกันออกไป เรื่องนี้หาคำตอบได้จากพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ดังนี้

          นาก มีความหมาย ๒ ประการ คือ  ๑. ชื่อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในวงศ์ Mustelidae ขนลําตัวสีนํ้าตาลอมเทา มี ๒ ชั้น ชั้นในละเอียด ชั้นนอกหยาบ หัวกว้างและแบน ระหว่างนิ้วมีแผ่นพังผืดขึงอยู่คล้ายตีนเป็ด หางแบน ขาหลังใหญ่และแข็งแรงกว่าขาหน้า ใช้ว่ายน้ำร่วมกับหาง ไล่จับปลาและสัตว์น้ำเล็ก ๆ ในประเทศไทยมี ๔ ชนิด ที่มีจํานวนมากและรู้จักกันทั่วไป คือ นากใหญ่ขนเรียบ (Lutra perspicillata)  และนากเล็กเล็บสั้น (Aonyx cinerea)   ๒. เป็นคำนาม หมายถึง โลหะผสมชนิดหนึ่ง โดยเอาทองคำ เงิน กับทองแดงผสมเข้าด้วยกัน นิยมใช้ทำรูปพรรณต่าง ๆ  เป็นวิเศษณ์ หมายถึง  เรียกสีอย่างสีทองปนแดง เช่น ชมพู่สีนาก

          นาค มีความหมาย ๕ ประการ คือ ๑. งูใหญ่มีหงอน เป็นสัตว์ในนิยาย  ๒. ชื่อชนเผ่าหนึ่งอยู่ในบริเวณเทือกเขานาค ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศอินเดีย และทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศพม่า มีหลายสาขา เช่น อาโอนาค กูกินาค  ๓. ช้าง  ๔. ไม้กากะทิง  ๕. ผู้ประเสริฐ ผู้ไม่ทําบาป; เรียกคนที่ไปอยู่วัดเตรียมตัวจะบวชหรือกำลังจะบวช

          มีเคล็ดลับที่ท่านผู้รู้ให้ข้อสังเกตไว้ คือ คำว่า “นาก” กับ “นาค” ให้กำหนดไว้ง่าย ๆ ว่า ถ้าหากเป็นโลหะผสมที่ใช้ทำรูปพรรณ หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ชอบจับปลาและสัตว์น้ำเล็ก ๆ กินเป็นอาหาร ให้เขียนเป็น “นาก” นอกนั้นให้เขียนเป็น “นาค” ทั้งหมด ต่อไปคำว่า “นาก” กับ “นาค” คงไม่ใช่ปัญหาคาใจอีกต่อไปแล้ว ใช่ไหมครับ

สำรวย นักการเรียน