น้ำข้าว กับ น้ำซาวข้าว

          คนไทยปัจจุบันนิยมหุงข้าวด้วยหม้อหุงข้าวไฟฟ้า จนเด็กรุ่นใหม่ไม่รู้จักว่า น้ำข้าว คืออะไร รู้จักแต่น้ำข้าวกล้องราคาแพงที่ขายกันตามท้องตลาด อีกทั้งสมัยนี้ยังมีข้าวที่โฆษณาว่าหุงได้โดยไม่ต้องซาวข้าวก่อน ก็เลยทำให้เด็ก ๆ พลอยไม่รู้จัก น้ำซาวข้าว ไปด้วย  ในวรรณกรรมเยาวชนเรื่องหนึ่ง มีข้อความว่า “เอาน้ำข้าวไปรดต้นไม้” ซึ่งอาจจะเป็นความเข้าใจผิดของผู้เขียน หรือความบกพร่องของผู้ตรวจพิสูจน์อักษรก็ได้ เพราะที่ถูกควรจะเป็น “เอาน้ำซาวข้าวไปรดต้นไม้” เพราะน้ำข้าวนั้นมีประโยชน์กินได้ เด็ก ๆ อาจจะสงสัยว่า “น้ำข้าว” กับ “น้ำซาวข้าว” แตกต่างกันอย่างไร

          การหุงข้าวมีอยู่ ๒ วิธี คือ การหุงเช็ดน้ำ และการหุงไม่ต้องเช็ดน้ำ พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ อธิบายว่า การหุงข้าว คือ การเอาข้าวสารและน้ำใส่หม้อตั้งบนเตาไฟให้ร้อนจนเดือดแล้วปลงลงเช็ดน้ำ จากนั้นยกขึ้นดงบนเตาไฟจนสุก เรียกว่า หุงเช็ดน้ำ ถ้าเคี่ยวจนน้ำแห้งไปเองโดยไม่ต้องเช็ดน้ำ เรียกว่า หุงไม่ต้องเช็ดน้ำ การหุงข้าวด้วยหม้อหุงข้าวไฟฟ้าแบบปัจจุบันก็ถือเป็นการหุงแบบไม่ต้องเช็ดน้ำ  การหุงข้าวเช็ดน้ำนั้น น้ำที่เช็ดออกหรือเทออกเรียกว่า น้ำข้าว ซึ่งจะมีความข้นมากและรับประทานได้ รวมทั้งมีคุณค่าทางอาหารด้วย เราจึงมักใช้ภาชนะอย่างชามหรือถ้วยรองน้ำข้าวเอาไว้กิน ไม่ทิ้งเสียเปล่า คนไทยสมัยก่อนใช้น้ำข้าวป้อนทารกแทนน้ำนมแม่เวลาที่น้ำนมไม่เพียงพอ

          ส่วน น้ำซาวข้าว คือ น้ำที่ใช้ล้างข้าวสารให้สะอาดก่อนจะหุง เนื่องจากในข้าวสารอาจจะมีฝุ่นละออง หรือมอดมากัดกิน จึงจำเป็นต้องล้างให้สะอาดก่อน เมื่อซาวข้าวแล้วเรามักนำน้ำซาวข้าวไปใช้ประโยชน์อื่น เช่น ดองผัก รดน้ำต้นไม้  ผู้ใหญ่จึงมักสอนลูกหลานว่า น้ำซาวข้าวอย่าทิ้งนะ เอาไว้ใช้ประโยชน์ได้.

ปิยรัตน์  อินทร์อ่อน