บวชชี

          “บวชชี” เป็นชื่อขนมหวานในดวงใจของใครหลายคน  ขนมธรรมดา ๆ นี้มีเรื่องราวที่น่าสนใจซ่อนอยู่มากมาย  และเหตุใดชื่อขนมหวานชนิดนี้จึงเกี่ยวข้องกับการบวชชี  วันนี้เรามีคำตอบค่ะ

          สารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่มที่ ๑๖ ได้อธิบายถึง “บวชชี” ไว้ว่า เป็นของหวานชนิดหนึ่ง ใช้กล้วยสุกจัดต้มกะทิ รสไม่หวานจัด มีรสเค็มผสมอยู่ด้วย ที่มีชื่อเช่นนี้ คงจะเป็นเพราะกล้วยบวชชีถ้าทำดี ๆ สีจะค่อนข้างขาว  จึงเปรียบได้กับเครื่องแต่งกายของชี  แต่ถ้าหากทำไม่พิถีพิถัน สีจะคล้ำเพราะยางกล้วย  นิยมใช้เป็นของหวานพื้น ๆ ไม่นิยมเป็นอาหารออกงาน  อย่างเช่นสำหรับพระหรืองานเลี้ยง กล้วยที่นิยมนำมาบวชชี คือ กล้วยน้ำว้า กล้วยไข่ก็ใช้กันอยู่บ้างเหมือนกัน  ถ้าใช้กล้วยไข่ นิยมเรียกว่า กล้วยไข่บวชชี  แต่ถ้าใช้กล้วยน้ำว้า ไม่เคยเจาะจงว่า กล้วยน้ำว้าบวชชี เรียกกล้วยบวชชีเฉย ๆ ก็เป็นที่เข้าใจกันว่าของดั้งเดิมคงจะนิยมใช้แต่กล้วยน้ำว้าเท่านั้น  การจะทำกล้วยบวชชีให้อร่อยนั้นมีวิธีทำได้ง่าย ๆ  เป็นของหวานซึ่งเหมาะจะสอนเด็ก ๆ ที่เริ่มหัดทำขนม  เพราะวิธีการไม่ยุ่งยากซับซ้อน  แต่มีเคล็ดลับที่ไม่ลับที่ต้องจดจำเมื่อต้องการทำกล้วยบวชชีให้มีสีขาวน่ารับประทานสมกับคำว่า “บวชชี” คือ เมื่อต้มกะทิ เกลือ และน้ำตาลรวมใส่หม้อตั้งไฟแล้ว ให้ปอกกล้วยตามขวาง ๒ หรือ ๓ ท่อน  ใส่ลงในหม้อกะทิ ใบต่อใบ การทำเช่นนี้จะทำให้กล้วยบวชชีมีสีขาวน่ารับประทาน ถ้าปอกจนหมดแล้วจึงใส่ สีจะคล้ำเนื่องจากยางกล้วยถูกอากาศนาน และนิยมใช้มีดเหล็กที่ไม่เป็นสนิมหรือมีดทองผ่ากล้วย  อาจโรยงา หรือถั่วเขียวคั่วให้หอม เราะแตกสองซีก ฝัดเปลือกออก เพื่อเพิ่มกลิ่มหอมและความอร่อย

          นอกจากนี้ มีอาหารหวานอีกชนิดหนึ่งเรียกว่า “แกงบวด” วิธีทำทุกอย่างเหมือนบวชชี แต่คงจะเนื่องด้วยสีไม่ขาว  เพราะแทนที่จะใช้กล้วยสุกก็ใช้ของอื่น ๆ เช่น กล้วยดิบต้มเสียก่อน  เผือก มัน ฟักทอง และนิยมใช้น้ำตาลโตนด  หรือ อีกประการหนึ่งผู้เป็นต้นคิดของหวานชนิดนี้อาจแจกแจงชื่อไว้เพื่อไม่ให้เด็ก ๆ เรียกสับสน  เพราะเมื่อเห็นวิธีทำเหมือนกันอาจเรียกชื่อเช่นเดียวกัน  เพราะเคยได้ยินอยู่บ่อย ๆ ว่า บวชชีกล้วย จึงคล้ายจะชวนให้คิดว่าอาจ บวชชีเผือก บวชชีมันก็ได้.

         อิสริยา  เลาหตีรานนท์