บาตร บาท บาด

          คำว่า “บาตร” “บาท” และ “บาด” เป็นคำที่มักใช้กันสับสน บางครั้งก็เขียนตามความเคยชิน เช่น คำว่าบิณฑบาต มักเขียนผิดเป็น บิณฑบาตร  และมักจะสับสนกับคำว่า บาตรพระ ซึ่งโดยมากเขียนผิดเป็น บาตพระ  วันนี้จึงจะเล่าถึงความหมายของคำทั้ง ๓ คำ

          “บาตร” มีความหมายตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตสถาน พ.ศ.๒๕๔๒ ว่า ภาชนะชนิดหนึ่งสําหรับภิกษุสามเณรใช้รับอาหารบิณฑบาต คำว่า บาตร เมื่อประสบกับคำอื่นแล้วได้ความหมายใหม่ เช่น บาตรแก้ว หมายถึง บาตรใหญ่ ๓ ใบ ถักเชือกรอบนอก ในพระราชพิธีกัตติเกยา บาตรใหญ่ หมายถึง  อำนาจที่ใช้ในทางข่มขี่ ใช้เข้าคู่กับ อำนาจ เป็น อำนาจบาตรใหญ่

          “บาท” มีหลายความหมาย ความหมายแรก หมายถึง ตีน ราชาศัพท์ใช้ว่า พระบาท ความหมายที่ ๒ หมายถึง มาตราเงินตามวิธีประเพณี ๑๐๐ สตางค์ หรือ ๔ สลึง เท่ากับ ๑ บาท ส่วน บาท ในความหมายที่ ๓ หมายถึง ส่วนหนึ่งของบทแห่งคําประพันธ์ เช่น โคลง ๔ สุภาพ บทหนึ่งมี ๔ บาท  ความหมายที่ ๔ หมายถึง ช่วงเวลาเท่ากับ ๑ ใน ๑๐ ของชั่วโมง เท่ากับ ๖ นาที

          ส่วน “บาด” เป็นคำกริยาหมายถึง  ทําให้เกิดเป็นแผลหรือรอยขีดข่วนอย่างของมีคมบาด เช่น มีดบาด แก้วบาด หญ้าคาบาด หากเป็นคำนามหมายถึง แผล ซึ่งคำว่า บาด เมื่อประสมกับคำอื่นได้คำที่มีความหมายใหม่ เช่น บาดใจ หมายถึง เจ็บแค้นใจ  บาดตา หมายถึง สะดุดตาเพราะเห็นสีฉูดฉาด  บาดหมาง หมายถึง โกรธเคืองกัน หมองใจกัน ผิดใจกัน  บาดหู หมายถึง ขัดหู ระคายหู ทำให้ไม่สบอารมณ์.

        อิสริยา เลาหตีรานนท์