ประ-ปะ

          คำว่า ประ มีหลายความหมาย  ความหมายหนึ่งหมายถึง ปะทะ หรือ กระทบ เช่น เธอไว้ผมยาวประบ่า. นักมวยประหมัดกัน. หรือ นักพูดประคารมกันอย่างสนุกสนานอีกความหมายหนึ่ง ประ แปลว่า ทำให้เป็นจุด ๆ เช่น เด็กน้อยประแป้งจนหน้าขาวว่อก.  เขาขีดเส้นประ.  เขาพิมพ์คำถามแล้วประจุดไข่ปลาไว้ให้เติมคำตอบ.   นอกจากนี้ ประ ยังใช้ซ้อนกับคำว่า พรม เป็น ประพรม  แปลว่า โปรยน้ำให้กระจายเป็นเม็ดเล็ก ๆ เช่น หลวงพ่อประพรมน้ำพระพุทธมนต์ให้เป็นสิริมงคล. เราใช้น้ำอบไทยประพรมอัฐิคุณปู่

          คำว่า ประ มีพยัญชนะต้นเป็นเสียงควบ ป กับ ร ต้องออกเสียงให้ชัด มิฉะนั้นจะกลายเป็นคำว่า ปะ ซึ่งมีความหมายว่า พบ อย่าง หนีเสือปะจระเข้. หรือหมายถึง ปิดทับ ปิดซ่อมรอยที่ชำรุด เช่น เอาป้ายชื่อปะไว้หน้าซองเอกสาร. แม่ปะเสื้อผ้าที่ขาด.

          ประ มีเสียง ร ควบ ส่วน ปะ ไม่มีเสียงควบ ต้องออกเสียงให้แตกต่างกัน

ที่มา :  บทวิทยุรายการ “รู้ รัก ภาษาไทย” ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๑๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๒ เวลา ๗.๐๐-๗.๓๐ น.