ปัจเจก

          ปัจเจก หมายถึง เฉพาะตัว เฉพาะบุคคล ตามลำพังไม่มีผู้อื่นสิ่งอื่นเข้ามาร่วมด้วย. คำว่า ปัจเจก ส่วนใหญ่จะไม่ใช้คำเดียวโดด ๆ แต่จะใช้นำหน้าคำอื่นเพื่อให้มีความหมายว่าเฉพาะผู้เดียว  อย่างเดียว  เช่น 

          ปัจเจกพุทธเจ้า (อ่านว่า ปัด-เจก-กะ พุด-ทะ เจ้า) หมายถึง พระพุทธเจ้าผู้ตรัสรู้เฉพาะตัว ไม่สั่งสอนผู้อื่น.

          ปัจเจกชน (อ่านว่า ปัด-เจก-กะ ชน) หรือ ปัจเจกบุคคล (ปัด-เจก-กะ-บุก-คน) หมายถึง เฉพาะคนหรือบุคคลแต่ละคน.

          ปัจเจกโพธิ (อ่านว่า ปัด-เจก-กะโพด) หมายถึง ความตรัสรู้เฉพาะตัว ความตรัสรู้ของพระปัจเจกพุทธเจ้า

          ปัจจุบันมีผู้ใช้คำว่า ปัจเจก หมายถึง ความเป็นตัวของตัวเอง ไม่ตามอย่างใคร เช่น คนบางคนมีความเป็นปัจเจกสูง ไม่ตามกระแสสังคม 

ที่มา :  บทวิทยุรายการ “รู้ รัก ภาษาไทย”  ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๑๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๕ เวลา ๗.๐๐-๗.๓๐ น.