ผีบุญ

          คนไทยในปัจจุบันอาจจะไม่รู้จักว่า ผีบุญ คืออะไร แต่ถ้าไปถามคนรุ่นปู่ย่าตายายคงต้องได้คำตอบแน่นอน  ในหนังสือสารานุกรมประวัติศาสตร์ไทย เล่ม ๑ อักษร ก ฉบับราชบัณฑิตยสถาน กล่าวถึง ผีบุญ ไว้ว่า ผีบุญ คือ สามัญชนที่อ้างตนว่าเป็นผู้มีบุญ เป็นผู้วิเศษเพื่อสร้างความเลื่อมใสศรัทธาให้แก่ชาวบ้าน เกิดขึ้นในบริเวณหัวเมืองอีสาน ซึ่งก็คือภาคตะวันออกเฉียงเหนือในปัจจุบัน 

          ความเชื่อเรื่องผีบุญมีมาตั้งแต่ปลายสมัยอยุธยา เกิดจากมีคำบอกเล่าต่อกันมาว่า มีลายแทงเป็นคำพยากรณ์เหตุการณ์บ้านเมืองว่าจะเกิดเหตุเภทภัยต่าง ๆ ขึ้น เช่น เงินทองจะกลายเป็นกรวดทราย และกรวดทรายจะกลายเป็นเงินทอง สุกรและกระบือจะกลายเป็นยักษ์กินคน จะมีผู้มีบุญมาเกิดในโลก ช่วยชุบกรวดทรายให้เป็นทองคำและดับทุกข์เข็ญ ผู้ที่ประสงค์จะให้พ้นเหตุร้ายจะต้องคัดลายแทงเก็บไว้ และบอกให้คนอื่นรู้ต่อ ๆ กันไป ชาวบ้านหวาดกลัวคำพยากรณ์จึงเล่าขานกันแพร่หลายออกไป เป็นเหตุให้เกิดผีบุญขึ้นตามท้องถิ่นต่าง ๆ ผีบุญโดยมากมักจะเป็นพระภิกษุ หรือผู้ทรงศีลนุ่งห่มขาว หรือผู้มีคาถาอาคมวิเศษต่างไปจากคนธรรมดาสามัญ สามารถเป่าเสก รดน้ำมนต์ สะเดาะเคราะห์ รักษาโรคเป็นการช่วยเหลือชาวบ้านได้ นอกจากนี้ยังมีการสอนธรรมะ การทำบุญ สวดมนต์ภาวนา และจะเป็นผู้นำไปสู่โลกหน้า คือ โลกพระศรีอาริย์ ชาวบ้านจึงเกิดความเลื่อมใสศรัทธายอมเข้าเป็นพวก เป็นกลุ่มใหญ่บ้างเล็กบ้างตามความเชื่อในผีบุญแต่ละคน

          ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีกลุ่มผีบุญในเมืองอุบลราชธานี รวบรวมผู้คนที่เลื่อมใสศรัทธาได้เป็นจำนวนมาก ดำเนินการถึงขั้นเป็นปฏิปักษ์ต่อบ้านเมือง ก่อการกบฏหวังเข้ายึดเมืองอุบลราชธานี แต่ไม่สำเร็จ ถูกทางการปราบปรามลงได้ในที่สุด.

ปิยรัตน์  อินทร์อ่อน