พระราชพิธีฉัตรมงคล (๑)

          สารานุกรมประวัติศาสตร์ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน อธิบายว่า พระราชพิธีฉัตรมงคล เป็นพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลสมโภชพระมหาเศวตฉัตร เครื่องราชูปโภค ฉลองสิริราชสมบัติเนื่องในวันคล้ายวันบรมราชาภิเษกของพระมหากษัตริย์ในพระบรมราชวงศ์จักรี เริ่มมีครั้งแรกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

          ตามธรรมเนียมเดิม ในเดือน ๖ (ตรงกับเดือนพฤษภาคม) เจ้าพนักงานทั้งฝ่ายหน้าและฝ่ายในที่มีหน้าที่รักษาเครื่องราชูปโภคและพระราชนิเวศน์ จะทำพิธีสมโภชเป็นการภายใน โดยฝ่ายในจะตั้งเครื่องสังเวย เครื่องประโคม และร้อยดอกไม้ประดับบูชา ส่วนฝ่ายหน้าจะจัดพิธีสวดมนต์เลี้ยงพระด้วย เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประกอบพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันพฤหัสบดี เดือน ๖ ขึ้น ๑๕ ค่ำ ปีกุนตรีศก จ.ศ. ๑๒๑๓ ตรงกับวันที่ ๑๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๓๙๔ นั้น ตรงกับเดือนที่เจ้าพนักงานทำพิธีสมโภชเครื่องราชูปโภค จึงโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชกุศลในวันคล้ายวันบรมราชาภิเษกและพระราชทานชื่อว่า “ฉัตรมงคล” โดยจัดการพระราชพิธีในเดือน ๖ ขึ้น ๑๓ ๑๔ ๑๕ ค่ำ และแรม ๑ ค่ำ รวม ๔ วัน

          พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรับบรมราชาภิเษกเมื่อวันพุธ เดือน ๑๒ แรม ๑๒ ค่ำ ปีมะโรงสัมฤทธิศก จ.ศ. ๑๒๓๐ ตรงกับวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๑๑ แต่ยังคงให้จัดพระราชพิธีฉัตรมงคลในเดือน ๖ ตามแบบอย่างในรัชกาลที่ ๔ ต่อมา จนกระทั่งเมื่อประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ครั้งที่ ๒ ในวันอาทิตย์ เดือน ๑๒ แรม ๑๒ ค่ำ ปีระกาเบญจศก จ.ศ. ๑๒๓๕ ตรงกับวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๑๖ พระองค์โปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าแก่พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการที่ได้รับพระราชทานพานทองด้วย ในปีต่อมาจึงย้ายเวลาจัดพระราชพิธีฉัตรมงคลจากเดือน ๖ มาทำในเดือน ๑๒ และเรียกว่า “การสมโภชพระมหาเศวตฉัตร” มีการจัดพระราชพิธีรวม ๔ วัน ในเดือน ๑๒ แรม ๑๐ ค่ำ ถึงแรม ๑๓ ค่ำ

ปิยรัตน์  อินทร์อ่อน