พินทุจุดในคำอ่าน

          มีผู้สอบถามถึงวิธีบอกคำอ่านของราชบัณฑิตยสถานเกี่ยวกับการใช้พินทุจุดบอกคำอ่านออกเสียง โดยได้ยกตัวอย่างมา ๒ คำ คือ พร่ำ [พฺร่ำ] ที่แปลว่า ร่ำไป ซ้ำ ๆ ซาก ๆ บ่อย ๆ พินทุจุดที่ตัว พ และออกเสียง พ นำ แต่ เหลอ [เหฺลอ] ที่แปลว่า ทำหน้าเซ่อ ๆ ทำนองว่าไม่รู้เรื่อง ใช้พินทุจุดที่ตัว ห กลับออกเสียงที่ ล 

          ถ้าดูจากตัวอย่างที่ผู้ถามยกมา ก็คงต้องมีข้อสงสัยว่า ทำไมราชบัณฑิตยสถานไม่ใช้พินทุจุดที่พยัญชนะที่ออกเสียงจะได้เข้าใจง่าย  อธิบายได้ว่า พินทุจุดไม่ได้เป็นตัวกำหนดการออกเสียงพยัญชนะนั้น แต่มีหลักเกณฑ์ตาม คำชี้แจงหลักการจัดทำและวิธีใช้พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ หัวข้อ  ฆ. การบอกคำอ่าน ข้อ ๔ หน้า (๘) ดังนี้

          “ข้อ ๔. คำอ่านที่มีเครื่องหมายพินทุจุดไว้ข้างใต้ตัวอักษร  มีความหมายดังนี้ 

          ก. ตัวอักษรนั้นเป็นอักษรนำและไม่อ่านออกเสียง ได้แก่ ตัว ใช้พินทุจุดไว้ข้างใต้ตัว ห เพื่อไม่ให้อ่านเป็นอย่างอื่นซึ่งมีความหมายต่างกัน เช่น เหลา [เหฺลา] เหย [เหฺย] แหงน [แหฺงน]

          ข. ตัวอักษรนั้นเป็นอักษรควบกล้ำซึ่งในภาษาไทยมี ๓ ตัว คือ ร ล ว ใช้พินทุจุดใต้พยัญชนะตัวหน้า เพื่อให้อ่านพยัญชนะตัวหน้า ๒ ตัวควบกัน เช่น ไพร [ไพฺร] ปลอบ [ปฺลอบ] กว่า [กฺว่า]”

          จะเห็นว่าหลักการใช้พินทุจุดทั้ง ๒ ข้อสามารถตอบคำถามข้างต้นได้ ขอยกตัวอย่างคำพ้องรูป คำว่า “เหลา” กับการเขียนคำอ่านออกเสียง โดยที่ เหลา [เหฺลา] ใช้พินทุจุดไม่ออกเสียง ห มี ๒ ความหมาย คือ ๑. ภัตตาคาร ๒. ทำให้เกลี้ยงเกลาหรือให้แหลมด้วยเครื่องมือมีมีดเป็นต้น  ส่วน เหลา [เห-ลา] แปลว่า ความหมิ่น; ความสนุก; การเล่น การกีฬา; การหยอกเอิน; ความสะดวกสบาย ออกเสียง ๒ พยางค์ โดยไม่ต้องใช้พินทุจุดที่พยัญชนะ ห

          นอกจากคำพ้องเสียงแล้ว ภาษาไทยยังมีคำพ้องรูปที่น่าสนใจอีก ถ้ามีโอกาสจะได้นำเสนอในครั้งต่อไป.

รัตติกาล  ศรีอำไพ