มดหมอ

          มีคำในภาษาไทยอยู่คู่หนึ่งซึ่งไม่ทราบว่ามีความสัมพันธ์กันอย่างไร คือ คำว่า “มด” กับ “หมอ” ที่ชาวบ้านมักพูดเข้าคู่กันเป็น “มดหมอ” เช่นเวลามีคนเจ็บไข้ได้ป่วย ก็มักบอกว่า “ทำไมไม่พาไปหามดหาหมอเล่า” หรือบางทีก็ถามว่า “ไปหามดหาหมอหรือยัง”

           นอกจากนั้นเราก็จะได้ยินคำอีกคู่หนึ่ง ซึ่งก็มีลักษณะอย่างเดียวกัน คือ คำว่า “พ่อมดหมอผี” ปัญหาก็มีว่า “พ่อมด” กับ “หมอผี” มีความสัมพันธ์กันอย่างไร เมื่อพูดถึง “พ่อมด” แล้วก็ต้องเกี่ยวโยงไปถึงคำว่า “แม่มด” ด้วย และเมื่อพูดถึง แม่มด” เราก็มักจะนึกถึง “แม่มดฝรั่ง” ที่เป็นหญิงแก่ผอม ๆ สูง ๆ หลังโกง จมูกยาว ๆ ใส่หมวกแหลม ขี่ไม้วาดเหาะไปไหนมาไหนได้

           ในภาษาไทยเรา มักจะพบคำว่า “แม่มด” มากกว่า “พ่อมด” และบางทีก็ทำให้นึกถึงรายการโฆษณาแป้งน้ำของบริษัทขายยายี่ห้อหนึ่ง ที่แม่มดถามกระจกวิเศษว่า “กระจกวิเศษจงบอกข้าเถิด ใครงามเลิศในปฐพี” และก็จะได้ยินเสียงตอบว่า “ก็สโนไวต์นะซี”

           ปัญหาก็อยู่ที่ว่าคำว่า “มด” เท่าที่คนทั่ว ๆ ไปทราบกันนั้นหมายถึง “น. แมลงพวกหนึ่ง ในวงศ์ Formicidae ขนาดเล็กมีหลายชนิด.” ส่วนในอีกความหมายหนึ่งที่เกี่ยวกับหมอนั้นเราไม่ค่อยทราบกัน

           ในความหมายที่เกี่ยวกับหมอนี้ พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ได้เก็บไว้เป็น “มด ๒” โดยได้ให้บทนิยามไว้ดังนี้ “น. หมอเวทมนตร์. หมอผี ถ้าเป็นผู้ชาย เรียกว่า พ่อมด ถ้าเป็นผู้หญิง เรียกว่า แม่มด; ใช้เป็นคำประกอบกับคำ หมอ เป็น มดหมอ หมายความว่า หมอทั่ว ๆ ไป.” และเมื่อไปดูที่คำว่า “หมอผี” ท่านได้ให้บทนิยามไว้ว่า “น. ผู้มีอำนาจสามารถปราบผีได้.”

           นอกจากนั้นที่คำว่า “แม่มด” ท่านก็ให้บทนิยามไว้ว่า “น. หญิง หมอผี หญิงที่ใช้อำนาจทำอะไรได้ผิดธรรมดา โดยอาศัยผีช่วย.” แต่คำว่า “พ่อมด” ท่านมิได้เก็บไว้ ปัญหาก็อยู่ที่ว่า คำว่า “มด” ในความหมายที่เกี่ยวกับ “หมอ” นี้ เป็นภาษาไทยแท้ ๆ หรือว่าเราได้มาจากภาษาอะไร ศาสตราจารย์ ดร. บรรจบ พันธุเมธา บอกว่า ในภาษาเขมรมีคำว่า “มต” (ต สะกด) เขาแปลว่า “หมอ” ได้ ถ้า “มด” (ด สะกด) มาจาก “มต” (ต สะกด) ซึ่งเป็น ภาษาบาลี อ่านว่า “มะ-ตะ” ก็ต้องแปลว่า “ตายแล้ว” ตรงข้ามกับ “อมตะ” ที่แปลว่า “ไม่ตาย”

           เมื่อ “มด” มาจาก “มต” (มะ-ตะ) ในภาษาบาลีก็เข้าชุดกันได้พอดี เพราะพ่อมดแม่มดล้วนเป็น “หมอผี” ทั้งสิ้น “ผี” ก็ต้องหมายถึง “คนที่ตายไปแล้ว” “หมอ” ในสมัยโบราณ โดยเฉพาะในประเทศหรือสังคมที่ยังไม่เจริญ ก็มักจะเชื่อกันว่าพวกหมอผีสามารถรักษาโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ได้ เมื่อนายแพทย์ปัจจุบัน ซึ่งเราเรียกว่า “หมอ” ทำหน้าที่รักษาโรคภัยไข้เจ็บให้หายได้คล้ายกับ “หมอผี” ในสมัยโบราณหรือในสังคมที่ยังไม่เจริญ บางท่านก็เลยได้รับยกย่องให้เป็น “มด” ไปด้วย.

ผู้เขียน :

.จำนงค์ ทองประเสริฐ ราชบัณฑิต สำนักศิลปกรรม
ที่มา : ภาษาไทยไขขาน. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แพร่พิทยา. ๒๕๒๘. หน้า ๔๐๔-๔๐๖.