มาตราเงิน

          คำที่เกี่ยวกับมาตราเงินและคำเรียกเกี่ยวกับเงินซึ่งปรากฏใน พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ มีอยู่หลายคำ เป็นคำที่เคยใช้ในอดีตและบางคำยังใช้มาจนถึงปัจจุบัน จึงนำมาเสนอให้ได้ทราบดังนี้

          ชั่ง เป็นมาตราเงินตามวิธีประเพณี ๑ ชั่ง เท่ากับ ๒๐ ตําลึงหรือ ๘๐ บาท  ตำลึง เป็นมาตราเงินตามวิธีประเพณี ๑ ตําลึง เท่ากับ ๔ บาท  บาท เป็นมาตราเงินตามวิธีประเพณี ๑ บาทเท่ากับ ๑๐๐ สตางค์ หรือ ๔ สลึง ใช้อักษรย่อว่า บ.  สลึง เป็นมาตราเงินตามวิธีประเพณี ๑ สลึง เท่ากับ ๒๕ สตางค์  อัฐ ใช้เรียกเงินปลีกสมัยก่อน ๘ อัฐ เท่ากับ ๑ เฟื้อง  เฟื้อง เป็นมาตราเงินตามวิธีประเพณี  ไพ เป็นมาตราเงินตามวิธีประเพณี ๑ ไพ เท่ากับ ๒ อัฐ  กล่อม เป็นชื่อมาตราเงินโบราณ ๒ กล่อม เป็น ๑ กลํ่า  กล่ำ เป็นชื่อมาตราเงินโบราณ ๒ กล่อม เท่ากับ ๑ กล่ำ คือ อัฐ และ ๒ กล่ำ เป็น ๑ ไพ  กหาปณะ (อ่านว่า กะหาปะนะ) เป็นเงินตรามีพิกัดเท่ากับ ๒๐ มาสก หรือ ๑ ตําลึง คือ ๔ บาท  เบี้ย คือเปลือกของหอยเบี้ยชนิดหนึ่งที่คนโบราณใช้เป็นวัตถุกลางสําหรับซื้อขายสิ่งของ มีอัตรา ๑๐๐ เบี้ยเป็น ๑ อัฐ (เท่ากับ ๑ สตางค์ครึ่ง) จึงใช้คําว่า เบี้ย เรียกเป็นเงินติดมาจนทุกวันนี้ เช่น เบี้ยประชุม เบี้ยประกัน เบี้ยเลี้ยงชีพ  สตางค์ คือเหรียญกระษาปณ์ปลีกย่อย ๑๐๐ สตางค์ เป็น ๑ บาท ใช้อักษรย่อว่า สต.  มาสก เป็นชื่อมาตราเงินในครั้งโบราณ ๕ มาสก เป็น ๑ บาท  ร้อยชั่ง คือจํานวนเงิน ๘๐๐๐ บาท ซึ่งถือว่าเป็นจํานวนมากในสมัยหนึ่ง

          ในสมัยรัชกาลที่ ๔ มีคำใช้เรียกค่ากำหนดแลกเปลี่ยนเหรียญทองกระษาปณ์ เช่น ทองทศ มีค่าเท่ากับ ๑ ใน ๑๐ ของชั่ง = ๘ บาท  ทองพิศ มีค่าเท่ากับ ๑ ใน ๒๐ ของชั่ง = ๔ บาท  พัดดึงส์ ใช้เรียกเหรียญทองชนิดหนึ่ง มีค่าเท่ากับ ๑ ใน ๓๒ ของชั่ง = ๒.๕๐ บาท

          นอกจากนี้คำบางคำยังนำมาใช้ในความหมายอื่น เช่น สตางค์ใช้ในความหมายโดยปริยายหมายถึงเงินที่ใช้สอย เช่น วันนี้ไม่มีสตางค์ติดตัวมาเลย เขาเป็นคนมีสตางค์ พัดดึงส์ใช้เป็นคำวิเศษณ์หมายถึง สามสิบสอง

   พัชนะ  บุญประดิษฐ์