ยถา และ สัพพี

          บทที่เริ่มต้นว่า “ยถา” มีชื่อเรียกว่า บทอนุโมทนารัมภคาถา หมายถึง คาถาที่เริ่มก่อนการอนุโมทนา กล่าวคือ ก่อนที่พระสงฆ์จะอนุโมทนาในบุญกุศลที่อุบาสกอุบาสิกาได้ทำแล้ว พระสงฆ์จะกล่าวบทอนุโมทนารัมภคาถานี้ เพื่อให้อุบาสกอุบาสิกาได้เตรียมตัวตั้งใจรับพรสืบไป บทนี้เป็นภาษาบาลี ดังนี้

          ยถา วาริวหา ปูรา          ปริปูเรนฺติ สาครํ
เอวเมว อิโต ทินฺนํ           เปตานํ อุปกปฺปติ
อิจฺฉิตํ ปตฺถิตํ ตุมฺหํ         ขิปฺปเมว สมิชฺฌตุ
สพฺเพ ปูเรนฺตุ สงฺกปฺปา   จนฺโท ปณฺณรโส ยถา มณิ โชติรโส ยถา
มีคำแปลว่า “ห้วงน้ำที่เต็มย่อมยังสมุทรสาครให้บริบูรณ์ได้ฉันใด ทานที่ท่านอุทิศให้แล้วแต่โลกนี้ย่อมสำเร็จประโยชน์ แก่ผู้ที่ละโลกนี้ไปแล้วฉันนั้น ขออิฐผลที่ท่านปรารถนาแล้ว ตั้งใจแล้ว จงสำเร็จโดยฉับพลัน ขอความดำริทั้งปวง จงบริบูรณ์ เหมือนดังพระจันทร์วันเพ็ญ (และ) เหมือนแก้วมณีอันสว่างไสว”

          ส่วนบทที่เริ่มต้นว่า “สัพพี” มีชื่อเรียกว่า บทสามัญญานุโมทนาคาถา หมายถึง คาถาที่พระสงฆ์ใช้สวดทุกครั้งที่อนุโมทนาในบุญกุศลที่อุบาสกอุบาสิกาได้ทำแล้ว บทนี้เป็นภาษาบาลี ดังนี้

          สพฺพีติโย วิวชฺชนฺตุ           สพฺพโรโค วินสฺสตุ
มา เต ภวตฺวนฺตราโย         สุขี ทีฆายุโก ภว
อภิวาทนสีลิสฺส  นิจฺจํ         วุฑฺฒาปจายิโน
จตฺตาโร ธมฺมา วฑฺฒนฺติ     อายุ วณฺโณ สุขํ พลํ
มีคำแปลว่า “ความจัญไรทั้งปวงจงบำราศไป โรคทั้งปวงจงหายไป อันตรายอย่ามีแก่ท่าน ขอท่านจงเป็นผู้มีความสุข มีอายุยืน ธรรม ๔ ประการ คือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ ย่อมเจริญแก่บุคคลผู้มีการอภิวาทเป็นปรกติ อ่อนน้อมต่อผู้เจริญเป็นนิตย์”

สำรวย นักการเรียน