ราชเสวก

          คำว่า เสวก (อ่านว่า เส-วก) เป็นคำมาจากภาษาบาลีว่า เสวก  (เส-วะ-กะ) แปลว่า ผู้รับใช้.   ผู้รับใช้พระเจ้าแผ่นดินเรียกว่า ราชเสวก (ราด-ชะ-เส-วก) เป็นคำเรียกข้าราชการพลเรือนในราชสำนักในสมัยก่อน ดังปรากฏในกฎหมายตราสามดวงที่กล่าวถึงข้าราชสำนักต่าง ๆ ว่า “พร้อมด้วยหมู่มุกขมนตรีกระวีชาติราชเสวกากรมาตยามหาราชครูบโรหิตบัณฑิตยาจารย”

          พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระราชนิพนธ์บทเสภาสามัคคีเสวก มีเนื้อหากล่าวถึงหน้าที่และความสำคัญของราชเสวกหรือข้าราชบริพารในราชสำนัก มีความตอนหนึ่งว่า


                    “อันเสวีแบ่งปันกันทั้งปวง                      เปนกระทรวงทะบวงการแจ้งประจักษ์
                    เพื่อประกอบกิจประจำพระสำนัก            ให้สมศักดิ์ทรงแต่งตำแหน่งนิยม
                    แต่ถึงแยกหลายแพนกแยกในกิจ              ในดวงจิตสามัคคีเปนปฐม
                    ถือเอาความภักดีพีโรดม                         ในบรมบุรุษรัตน์ขัตติยา”

ที่มา :  บทวิทยุรายการ “รู้ รัก ภาษาไทย” ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๒ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๖ เวลา ๗.๐๐-๗.๓๐ น.