ลาติน กับ ละติน

          ท่านผู้อ่านเคยสงสัยหรือไม่คะ ว่าคำว่า “ลาติน” กับ “ละติน” ใช้แตกต่างกันอย่างไร  สารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่มที่ ๒๕ ได้ให้คำอธิบายและการใช้คำทั้ง ๒ คำไว้ ดังนี้

          “ละติน” (Latin)  หมายถึง ชาวละติน ภาษาละติน หรือจารีตละติน ก็ได้  ชาวละติน ได้แก่ ชาวเผ่าอารยันที่อาศัยอยู่แถบกลางคาบสมุทรอิตาลี เดิมเรียกว่า แคว้นละติน  ภาษาละติน คือ ภาษาที่ชาวละตินใช้มาแต่เดิม ซึ่งต่อมาได้รับการยอมรับให้เป็นภาษาราชการของมหาอาณาจักรโรมัน จึงกลายเป็นภาษาวรรณคดี ภาษาวิชาการและภาษาศาสนาของมหาอาณาจักรโรมัน ส่วนคำว่า จารีตละติน นั้น ศาสนาคริสต์ตอนต้นยุคกลางจัดแบ่งตามภาษาศาสนาที่ใช้เรียกว่า จารีต นั่นคือ กลุ่มที่ใช้ภาษาหนึ่งประกอบพิธีทางศาสนา เช่น จารีตละติน จารีตกรีก

          คำว่า “ลาติน” ใช้กับคำว่า “ลาตินอเมริกา” (Latin America)  คือ ประเทศทั้งหลายที่อยู่ในเขตอเมริกากลางและอเมริกาใต้  ซึ่งใช้ภาษาสเปนหรือโปรตุเกสเป็นภาษาราชการ เหตุที่เรียกว่า ลาติน ก็เพราะว่าภาษาทั้ง ๒ เป็นภาษาที่เพี้ยนมาจากภาษาละตินแห่งยุคกลางของคริสตจักรคาทอลิก  เดิมชาวสเปนและชาวโปรตุเกสเป็นอนารยชนที่รุกรานยุโรป นับถือศาสนาคริสต์ ซึ่งใช้ภาษาละตินเป็นภาษาศาสนาและวิชาการ ชั้นแรกภาษาละตินมีอิทธิพลต่อภาษาพื้นเมืองอย่างมาก ต่อมาค่อย ๆ เพี้ยนไปตามแต่ละท้องถิ่นจนกลายเป็นภาษาประจำถิ่น ซึ่งถือได้ว่าเป็นภาษาลูกของภาษาละติน  เมื่อสเปนและโปรตุเกสไปยึดครองดินแดนในทวีปใหม่ก็นำภาษาของตนไปใช้ด้วย และเรียกผู้ใช้ภาษาสเปนและโปรตุเกสในทวีปอเมริการวมกันว่า “ชาวลาตินอเมริกา” คือพวกที่พูดภาษาที่แตกลูกมาจากภาษาละติน เฉพาะคำนี้ในภาษาไทยใช้ “ลาตินอเมริกา” จนกลายเป็นคำบัญญัติไปโดยปริยาย แทนที่จะใช้คำ “ละติน” ให้สอดคล้องกับ “ภาษาละติน”.

        อิสริยา  เลาหตีรานนท์