สร้อย

พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ ให้ความหมายของคำว่า สร้อย ไว้หลายความหมาย ความหมายแรกที่เราคุ้นเคยกันดี คือ เครื่องประดับที่ทำเป็นเส้น เช่น สร้อยคอ สร้อยข้อมือ หรือเรียกว่า สายสร้อย  ส่วนคำว่า สร้อยอ่อน  หมายถึง สร้อยขนาดเล็กตั้งแต่ ๒ สายขึ้นไปเรียงกัน มีหัวเป็นที่ร้อย   สร้อยอีกความหมายหนึ่งเป็นคำนามหมายถึง  ขนคอสัตว์ เช่น สร้อยคอไก่ สร้อยคอสิงโต  คำว่า สร้อยระย้า หมายถึง ชื่อตุ้มหูชนิดหนึ่งที่มีระย้าห้อยลงมา  แต่คำว่า สร้อยระย้า ไม่ได้มีความหมายเดียว  สร้อยระย้า ยังหมายถึง ชื่อกล้วยไม้ มีดอกเล็กสีขาว ออกเป็นช่อห้อยลง กลิ่นหอม  และยังหมายถึงชื่อไม้พุ่มอิงอาศัยชนิดหนึ่ง มีใบรูปไข่เป็นมัน เส้นกลางใบสีขาวนวล ดอกสีชมพู ออกเป็นช่อห้อยลง

คำว่า สร้อย ที่เป็นคำประสมและมีความหมายเกี่ยวกับเพลงมีหลายคำ เช่น คำว่า สร้อยสน หมายถึง ชื่อเพลงไทย อัตรา ๒ ชั้นหน้าทับปรบไก่ และหมายถึง ชื่อกลบทชนิดหนึ่ง  นอกจากนี้ ยังหมายถึง สร้อยที่ถักเป็นลายคดกริช ด้วย ส่วนคำว่า  สร้อยสนตัด หมายถึง ชื่อเพลงไทย อัตรา ๒ ชั้น หน้าทับปรบไก่ มีท่อนเดียว ๔ จังหวะ ใช้บรรเลงในการแสดง ไม่มีบทร้องเฉพาะ  สร้อย ยังเป็นชื่อปลานํ้าจืดชนิดหนึ่ง ปลาสร้อย มีพฤติกรรมรวมกันเป็นฝูงในลำน้ำใหญ่ในฤดูนํ้า และว่ายทวนนํ้าขึ้นไปหากินหรือสืบพันธุ์ในแหล่งน้ำที่ไหลเอ่อนอง หรือท่วมขังในตอนกลางและปลายฤดูน้ำหลาก ส่วนใหญ่ลำตัวสีขาวเงินและมีจุดคลํ้าหรือจุดดำบนเกล็ดจนเห็นเป็นเส้นสายหลายแถบพาดตามยาวอยู่ข้างตัว หรือเรียกว่า กระสร้อย   คำว่า สร้อย ความหมายต่อมาหมายถึง คำหรือวลีที่ใช้ลงท้ายวรรค ท้ายบาท หรือท้ายบทร้อยกรอง เพื่อให้ครบตามจำนวน เพื่อความไพเราะของเสียงและความหมายหรือเพื่อแสดงว่าจบตอน หรือเรียกอีกอย่างว่า คำสร้อย และ สร้อย ยังเป็นคำที่เติมหรือประกอบคำอื่นเพื่อให้ไพเราะหรือเต็มความ เช่น เสื้อแสง หนังสือหนังหา  นอกจากนึ้ สร้อย มีความหมายเฉพาะในวรรณคดีอีกด้วย หมายถึง ผู้หญิง หรือนาง คำนี้เรามักพบในวรรณคดีเรื่องต่าง ๆ เช่น จำใจจำจากสร้อย จากวรรณคดีเรื่อง ลิลิตตะเลงพ่าย และ สร้อย ที่เป็นคำนามอีกคำหนึ่ง หมายถึง ดอกไม้ เช่น สร้อยสลา.

อิสริยา เลาหตีรานนท์