สังฆทาน

          ในช่วงใกล้วันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษาเช่นนี้ พุทธศาสนิกชนหลายคนคงเตรียมตัวทำบุญและถวายสังฆทานกันเป็นพิเศษ วันนี้จึงได้โอกาสมาเล่าเรื่องของ สังฆทาน

          สารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่มที่ ๒๗ อธิบายไว้ว่า สังฆทาน หมายถึง ทานเพื่อสงฆ์ การถวายสิ่งของแก่สงฆ์โดยไม่จำเพาะเจาะจงพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ตามหลักพระพุทธศาสนาการถวายแบบนี้มีผลานิสงส์มากกว่าการถวายแบบจำเพาะเจาะจง เพราะเกิดจากเจตนาที่เป็นมหากุศล มุ่งให้เกิดประโยชน์ส่วนรวม

          คำว่า สังฆทาน ประกอบด้วยคำ ๒ คำ คือ สังฆะ + ทาน คำว่า สังฆะ นิยมใช้ทับศัพท์ว่า สงฆ์ แปลว่า หมู่ชุมนุมในพระวินัย คำว่า สงฆ์ ในคำว่า สังฆทาน หมายถึง องค์รวมของพระภิกษุหรือพระภิกษุณีที่ชุมนุมหรืออาศัยอยู่ในวัดใดวัดหนึ่ง การถวายสิ่งของแก่สงฆ์หรือเพื่อสงฆ์ หมายถึง การถวายให้เป็นของสงฆ์ที่พระภิกษุทุกรูปใช้ได้ โดยมีการแบ่งกันตามพระวินัย ถ้าผู้ถวายมีของถวายจำนวนจำกัด ให้ตั้งใจอย่างแน่วแน่ว่าจะถวายแก่สงฆ์เมื่อมีหรือพบพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่งก็ให้ถือว่าท่านเป็นผู้แทนของสงฆ์ ส่วนคำว่า ทาน แปลว่า การให้ หรือการถวาย เป็นพฤติกรรมที่เกิดจากการเสียสละ ยอมยกหรือแบ่งสิ่งที่ตนมีให้แก่ผู้อื่น เพื่อสงเคราะห์ช่วยเหลือ เพื่อบูชาคุณ หรือเพื่อสร้างสมคุณความดีให้มีเพิ่มขึ้น

          การจัดเครื่องถวายสังฆทาน ควรคำนึงถึงประโยชน์ที่เกิดแก่พระสงฆ์ผู้รับเป็นสำคัญจึงต้องจัดสรรสิ่งที่ดี มีคุณค่า มีคุณภาพ และเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการดำรงชีพของพระสงฆ์ เช่น ถ้าถวายในตอนเช้าถึงเพล ควรมีภัตตาหารคาวหวาน ผลไม้ เครื่องดื่ม เป็นหลัก มีเครื่องใช้ เช่น สบง จีวร ผ้าอาบน้ำฝน ผ้าเช็ดตัว สบู่ ยาประจำบ้าน โดยอาจจัดใส่ในภาชนะ เช่น ถัง เพื่อความสะดวกในการยกประเคน และจัดเท่ากับจำนวนพระสงฆ์ที่จะถวาย ส่วนโอกาสในการถวายสังฆทาน อาจทำรวมกับพิธีกรรมอื่น ๆ ที่จัดขึ้น เช่น วัดเกิด วันแต่งงาน วันขึ้นบ้านใหม่ ก็ได้.

อิสริยา เลาหตีรานนท์