สาทร

          มีคำถามเข้ามายังราชบัณฑิตยสถานหลายครั้งเกี่ยวกับการสะกดคำว่า “สาทร” ที่เป็นชื่อเขต ถนน คลองและสะพาน ว่าควรสะกดว่า “สาทร” หรือ “สาธร”  คำนี้มีความสับสนกันมานานพอสมควร จนกระทั่งกรุงเทพมหานครได้ประสานกับราชบัณฑิตยสถานขอให้ตรวจสอบคำสะกดที่ถูกต้อง ซึ่งก็คือ “สาทร”

          พจนานุกรมวิสามายนามไทย : วัด วัง ถนน สะพาน ป้อม ของนางสาวกนกวลี ชูชัยยะ พิมพ์เผยแพร่โดยราชบัณฑิตยสถาน ได้เล่าถึงคำ “สาทร” ว่า ใน พ.ศ. ๒๔๓๑ รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คหบดีชื่อ เจ๊สัวยม ได้กว้านซื้อที่ดินระหว่างถนนสีลมกับบ้านทวายแล้วให้ขุดคลองผ่านที่ดินจากนั้นนำดินที่ขุดได้มาถมเป็นถนนสองฝั่งคลอง เรียกว่า คลองเจ๊สัวยม  ต่อมาเมื่อเจ๊สัวยมได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “หลวงสาทรราชายุตก์” คนทั่วไปจึงเปลี่ยนมาเรียกว่า คลองสาทรราชายุตก์ ต่อมาจึงเหลือสั้นลงเป็น คลองสาทร คำว่า สาทร นั้น จากการตรวจสอบเอกสารสมัยราชกาลที่ ๕ พบว่า ใช้ทั้ง สาทร และ สาธร  ราชบัณฑิตยสถานได้ตรวจสอบแล้วพบว่า นามศักดิ์ของขุนนางที่มีคำว่า สาทร นำหน้ามักใช้ว่า สาทร แต่ก็มีการใช้ว่า สาธร ด้วย และเมื่อตรวจสอบหลักฐานเกี่ยวกับบรรดาศักดิ์หลวงสาทรราชายุตก์ในเอกสารชั้นต้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่เกี่ยวข้องกับหลวงสาทรราชายุตก์ (ยม) ก็ใช้ทั้ง หลวงสาทรราชายุตก์ และ หลวงสาธรราชายุตก์ แต่เอกสารในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเขียนชื่อ ถนนสาทร ว่า สาทร และปรากฏในลายพระราชหัตถเลขาพระราชทานนามสกุลแก่นายเสถียรรักษาหรือจมื่นอินทรประภาษ (หลี) ปลัดวังซ้าย เมื่อวันที่ ๑๓ กรกฎาคม  พ.ศ. ๒๔๕๖ ว่า “สาทรานนท์” โดยทรงหมายเหตุไว้ว่า พระเสถียรรักษามีปู่ชื่อ “พระสาทรราชายุตก์ (เผง)” ซึ่งเป็นเหตุผลที่พระราชทานนามสกุลแก่ผู้สืบสายตระกลูว่า “สาทรานนท์” ดังนั้น ราชบัณฑิตยสถานถึงแจ้งกรุงเทพมหานครว่า ควรใช้ “สาทร” เพื่อเป็นเกียรติแก่หลวงสาทรราชายุตก์  กรุงเทพมหานครจึงได้จัดทำประกาศกระทรวงมหาดไทยเปลี่ยนแปลงชื่อ เขตสาธร เป็น เขตสาทร รวมทั้งชื่อถนน คลอง และสะพาน ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๔๑.

อิสริยา  เลาหตีรานนท์