สาธารณะ

ว่ากันว่ารายได้เป็นกอบเป็นกำของบรรดาผู้มีชื่อเสียง เช่น ดารานักแสดง อาจต้องแลกมาด้วยความเป็นส่วนตัว เข้าตำราที่ว่า เป็นบุคคลสาธารณะหรือเป็นคนของประชาชน ไม่ว่าในวันหนึ่ง ๆ จะทำอะไรก็เป็นข่าว เพราะมีคนเฝ้าติดตามความเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา  เมื่อตรวจดูความหมายในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ ก็เห็นว่าให้นิยามที่สนับสนุนข้อความดังกล่าวอยู่ไม่น้อย คือ สาธารณะ หมายถึง เพื่อประชาชนทั่วไป เช่น สวนสาธารณะ  โทรศัพท์สาธารณะ บ่อน้ำสาธารณะ  และอีกความหมายหนึ่งก็คือ ทั่วไป เช่น ถนนนี้ไม่ใช่ถนนสาธารณะ

เมื่อคำว่า สาธารณะ อยู่รวมกับคำใด คำนั้นก็มีความหมายไปในทำนองเดียวกันนี้  เห็นได้จากลูกคำของคำว่า สาธารณะ ที่มีเก็บในพจนานุกรมฯ อยู่หลายคำ เช่น คำว่า สาธารณประโยชน์ คือ ประโยชน์ทั่วไปแก่ประชาชน  คำว่า สาธารณภัย คือ ภัยที่เกิดแก่คนหมู่มากอย่างไฟไหม้ น้ำท่วม   คำว่า สาธารณูปโภค (public utility) คือ บริการสาธารณะที่จัดทำเพื่ออำนวยประโยชน์แก่ประชาชนในสิ่งอุปโภคที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิต เช่น การไฟฟ้า การเดินรถประจำทาง โทรศัพท์  

หนังสือเล่มอื่น ๆ ของราชบัณฑิตยสถานก็อธิบายคำที่เกี่ยวกับคำว่า สาธารณะ ไว้ด้วย ดังนี้  พจนานุกรมคำใหม่ เล่ม ๑ ซึ่งเก็บคำว่า บุคคลสาธารณะ ไว้ และให้ความหมายว่า ผู้ที่เป็นที่รู้จักของคนทั่วไป และมีอาชีพที่เกี่ยวพันกับคนทั่วไป  มักใช้หมายถึง นักการเมือง ดารา นักร้อง นักกีฬา เป็นต้น   อีกคำหนึ่งคือ คำว่า เวทีสาธารณะ หมายถึง การประชุมที่เปิดโอกาสให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นได้อย่างเสรีเกี่ยวกับนโยบายหรือการดำเนินงานของรัฐ  ส่วนคำว่า ระบบกระจายเสียงสาธารณะ หรือพีบีเอส (Public Broadcasting Service–PBS) มีอธิบายไว้ในพจนานุกรมศัพท์ศึกษาศาสตร์ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ว่าหมายถึง กระบวนการระบบวิทยุหรือโทรทัศน์ในการให้ข่าวสาร ข้อมูล ความรู้ สาระบันเทิง ไปยังกลุ่มชน หรือให้ประชาชนสามารถเข้าถึงสารสนเทศและร่วมแสดงความคิดเห็นได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และรายการทั้งหมดมุ่งส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิต อาชีพ และความเป็นอยู่โดยทั่วไป.

อารยา  ถิรมงคลจิต