สำมะโน

          หลายคนคงจะเคยได้ยินคำว่า สำมะโน กันมาบ้างแล้ว เคยสงสัยกันบ้างหรือไม่ว่าหมายถึงอะไร วันนี้ราชบัณฑิตยสถานมีคำตอบมาเฉลย

          ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ อธิบายคำ สำมะโน  ไว้ว่าหมายถึงการเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับประชากร เคหะ การเกษตร อุตสาหกรรม ธุรกิจ และการอื่น เพื่อใช้ประโยชน์ในทางสถิติ โดยการแจงนับจากทุกหน่วยเกี่ยวกับเรื่องนั้น ๆ

          นอกจากคำอธิบายตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ แล้ว ก็ยังมีคำอธิบายที่คณะกรรมการจัดทำพจนานุกรมศัพท์ประชากรศาสตร์ แห่งราชบัณฑิตยสถาน ได้ให้คำอธิบายไว้เช่นกันว่า  สำมะโน หรือ census หมายถึง การนับจำนวนหน่วยที่มีอยู่ทั้งหมดในพื้นที่หนึ่ง ณ ขณะเวลาหรือช่วงเวลาหนึ่ง ในการทำสำมะโนประชากร (population census)  หน่วยที่นับก็จะเป็นประชากร แต่หน่วยที่นับนั้นอาจเป็นอย่างอื่นที่มิใช่ประชากรก็ได้  เมื่อเป็นการทำสำมะโนอย่างอื่น เช่น ประเทศไทยมี “สำมะโนเคหะ” เป็นการสำรวจนับจำนวนที่อยู่อาศัย  “สำมะโนอุตสาหกรรม” นับจำนวนสถานประกอบการอุตสาหกรรม  “สำมะโนการเกษตร” สำรวจจำนวนและลักษณะของครัวเรือนที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม  “สำมะโนธุรกิจ” นับจำนวนสถานประกอบการธุรกิจ

          แต่ก็ใช่ว่าการสำมะโนเพิ่งจะมีเริ่มมีในปัจจุบันนี้นะคะ ถ้าใครเคยศึกษากฎหมายตราสามดวงมาบ้างก็คงจะเคยพบคำ สำมะโน ในเรื่องเกี่ยวกับการแบ่งปันผู้คน  แต่การใช้คำสำมะโนจะเก่ากว่านั้นหรือไม่  ก็ต้องช่วยกันสืบต่อไป จะได้ช่วยกันอนุรักษ์ภาษาไทยด้วยกันค่ะ

         จินดารัตน์  โพธิ์นอก