สิบแปดมงกุฎ

          สิบแปดมงกุฎ เป็นสำนวน มีความหมายว่า ผู้ที่มีเล่ห์เหลี่ยม ปลิ้นปล้อน หลอกลวง เช่น เธอต้องระวังให้ดีนะ พวกสิบแปดมงกุฎชอบเอาทองปลอมมาล่อให้หลงเชื่อ แล้วแลกเอาทองแท้ของเธอไป

          คำว่า สิบแปดมงกุฎ มีอยู่ในเรื่องรามเกียรติ์     เป็นคำเรียกทหารพระรามที่เป็นลิงชั้นนายหรือยอดทหาร ๑๘ ตัว เช่น สุรกานต์ (อ่านว่า สุ-ระ-กาน) สุรเสน (อ่านว่า สุ-ระ-เสน)  นิลขัน (อ่านว่า นิน-ละ-ขัน) นิลเอก (อ่านว่า นิน-ละ-เอก). วานร ๑๘ ตัวนี้เป็นเทวดาจุติลงมาเกิด.

          ที่มาของสำนวนนี้ กาญจนาคพันธุ์ กล่าวไว้ในหนังสือสำนวนไทยว่า ในสมัยหนึ่ง มีนักเลงการพนันพวกหนึ่งซึ่งถือกันว่าเป็นนักเลงใหญ่หรือนักเลงชั้นยอด พวกนี้สักตรามงกุฎ จึงได้ชื่อว่าสิบแปดมงกุฎ. หลังจากนั้นใครก็ตามที่เป็นนักเลงการพนัน แม้จะไม่ได้สักตรามงกุฎ ก็เรียกกันว่า สิบแปดมงกุฎ.

          คำว่า มงกุฎ ทำให้นึกถึง สิบแปดมงกุฎ ในเรื่องรามเกียรติ์  เมื่อกล่าวถึงนักเลงการพนันที่สักตรามงกุฎ จึงเติมคำเป็น สิบแปดมงกุฎ. ต่อมา สิบแปดมงกุฎ ได้ขยายความหมายออกไป หมายถึง ผู้ที่มีเล่ห์เหลี่ยมมาก ผู้ที่ปลิ้นปล้อนหลอกลวงผู้อื่น.

ที่มา :  บทวิทยุรายการ “รู้ รัก ภาษาไทย”  ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๒๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๐ เวลา ๗.๐๐-๗.๓๐ น.