สุพรรณหงส์  สุวรรณหงส์

                                        “สุวรรณหงส์ทรงพู่ห้อย       งามชดช้อยลอยหลังสินธุ์
                                        เพียงหงส์ทรงพรหมินทร์     ลินลาศเลื่อนเตือนตาชม”

          บทเห่เรือดังกล่าวเป็นพระนิพนธ์ของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร  ในรัชสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ  ซึ่งท่านผู้อ่านหลาย ๆ คนคงเคยได้ยินมาตั้งแต่เด็ก  บทเห่เรือนี้ทำให้เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หล่าย  ทั้งนี้  จากสารานุกรมไทย เล่ม ๒๘ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ได้เล่าถึง สุพรรณหงส์ หรือ สุวรรณหงส์   พอสรุปได้ว่า  เป็นชื่อเรือพระที่นั่งลำหนึ่งในกระบวนเรือพระราชพิธีหรือกระบวนพยุหยาตราชลมารคของพระมหากษัตริย์ไทยตั้งแต่สมัยอยุธยา  ชื่อเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ปรากฏครั้งแรกในสมัยพระมหาจักรพรรดิซึ่งปรากฏในพงศาวดารมีชื่อว่า “เรือพระที่นั่งชัยสุพรรณหงส์”  ต่อมา ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เปลี่ยนชื่อเป็น “เรือพระที่นั่งศรีสุพรรณหงส์”  

          ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชก็ปรากฎชื่อ เรือพระราชพิธีในกระบวนพยุหยาตราชลมารค ๖๗ ลำ และชื่อเรือพระที่นั่งศรีสุพรรณหงส์ด้วยลำหนึ่ง   เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์เป็นเรือสำคัญมาตลอด

          จนเสื่อมสภาพลงและปลดระวางเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๔  เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ลำดังกล่าวนี้เป็นต้นแบบของเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ลำปัจจุบันซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  ให้พลเรือตรีพระยาราชสงครามเป็นสถาปนิกต่อขึ้นใหม่แทนลำเดิมและพระราชทานนามเรือว่า “สุพรรณหงส์”   เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ลำปัจจุบันประกอบพิธีลงน้ำเมื่อวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๔   ซึ่งเป็นเรือที่มีความงดงามในทางศิลปกรรม  และมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของไทย   อีกทั้งยังมีความสำคัญเป็นมรดกโลกที่แสดงถึงความมีอัจฉริยะของช่างต่อเรือไทยโบราณ  รัฐบาลไทยได้ทำนุบำรุงเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์เป็นอย่างดี  จนสามารถนำไปรับใช้เบื้องพระยุคลบาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการพระราชพิธีต่าง ๆ มาจนปัจจุบัน   หากใครต้องการไปเยี่ยมชมเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ก็สามารถไปกันได้ที่พิพิธภัณฑ์โรงเรือพระราชพิธี  ริมคลองบางกอกน้อย  กรุงเทพมหานคร  

          อิสริยา  เลาหตีรานนท์