หัวล้าน เรามักจะเรียกคนที่ไม่มีผมบางแห่งหรือไม่มีผมหมดทั้งหัวว่า คนหัวล้าน อย่างขุนช้างซึ่งเป็นตัวละครที่โด่งดังในวรรณคดีไทยเรื่องขุนช้างขุนแผน และหลายท่านคงทราบว่าลักษณะของหัวล้านที่มีผู้รวบรวมไว้และรู้จักกันแพร่หลายมีประมาณ ๗ แบบ ด้วยความที่คนไทยมักเป็นคนเจ้าสำนวน ชอบกล่าวถึงเรื่องต่าง ๆ เป็นคำคล้องจอง จึงมีผู้คิดคำเปรียบเทียบเรียกลักษณะของหัวล้านแบบต่าง ๆ ไว้ ดังนี้ ทุ่งหมาหลง ลักษณะคือมีผมเฉพาะช่วงตีนผม นอกนั้นไม่มีผม จึงเปรียบเทียบว่าเป็นพื้นที่โล่งกว้างขนาดที่สุนัขซึ่งได้ชื่อว่าดมกลิ่นและหาทางกลับบ้านเก่ง ยังหลงทาง หาทางไปไม่ได้ ดงช้างข้าม ลักษณะคือหัวล้านน้อยกว่าทุ่งหมาหลง คือแม้จะหัวล้านมาก แต่ยังพอมองเห็นขอบผมที่เปรียบว่าเป็นป่ากว้าง สัตว์ใหญ่ขนาดช้างก็ยังพอมองเห็นแนวป่าที่ข้ามไปถึงได้ ง่ามเทโพ ลักษณะคือผมบริเวณขมับทั้ง ๒ ข้างเถิกขึ้นไปด้านหลังมาก หรืออาจเรียกว่าเป็นหน้าผากที่ถอยร่นสูงขึ้นไปมากกว่าปรกติก็ได้ แต่ช่วงหน้าผากตรงกลางระหว่างคิ้วมีผม จึงมีลักษณะเป็นง่าม ชะโดตีแปลง ลักษณะคือมีผมเฉพาะด้านข้าง ตรงกลางศีรษะไม่มีผม จึงเปรียบคล้ายแอ่งน้ำที่มีขนาดกว้างพอที่ปลาชะโดตีแปลงได้ (ว่ายเล่นได้) ซึ่งถ้ามองจากด้านบนจะเห็นลักษณะหัวล้านเป็นวงกลม แร้งกระพือปีก ลักษณะคือล้านเถิกจากด้านหน้าไปถึงด้านหลังเป็นวงกลม ตรงกลางศีรษะมีผมเป็นกระจุกผมอยู่ตรงกลาง มองจากด้านบนจะเห็นคล้ายลักษณะงอกระพือปีก ฉีกหางฟาด บางสำนวนใช้ว่า ฉีกขวานฟาด ลักษณะคือหัวล้านเถิกไปถึงด้านหลัง ตรงกลางยังพอมีผมอยู่บ้างบาง ๆ คล้ายแนวที่ถูกฟาด ราชคลึงเครา หัวล้านแบบนี้เน้นที่เครา เพราะลักษณะคือเป็นหัวล้านแบบใดแบบหนึ่งก็ได้ แต่มีเคราที่หนาดกมากกว่าปรกติ นอกจากแบบที่กล่าวมานี้ยังมีลักษณะแบบอื่น ๆ อีก เช่น ครึ่งซีกพระจันทร์คือหัวล้านเถิกจากหน้าผากเข้าไปครึ่งหัว สุริยันหมดเมฆคือหัวล้านโล่งทั้งหมดจนเห็นศีรษะแดงเหมือนดวงอาทิตย์ที่ไม่มีเมฆบัง หากอยากเห็นหัวล้านแบบต่าง ๆ สามารถคลิกดูได้ทางอินเทอร์เน็ต หรือไปดูที่พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย จังหวัดนครปฐม ซึ่งจัดหุ่นขี้ผึ้งแสดงไว้ให้ชม พัชนะ บุญประดิษฐ์ |