อรหัน กับ อรหันต์

          ถ้าถามผู้อ่านว่า ระหว่างคำ อรหัน ที่ไม่มี ต การันต์ กับคำ อรหันต์ ที่มี ต การันต์ คำใดเป็นคำที่เขียนถูกต้องตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ โดยมิให้ผู้อ่านเปิดพจนานุกรมฯ ก่อนตอบคำถาม  ผู้เขียนเชื่อว่า คำตอบที่ได้คงจะเป็น อรหันต์ ที่มี ต การันต์ เสียเป็นส่วนใหญ่

          จากข้อสันนิษฐานดังกล่าวข้างต้น คงเป็นเพราะคนส่วนใหญ่คุ้นเคยกับคำ อรหันต์ มากกว่าคำ อรหัน เนื่องจากคำ อรหันต์ มีความเกี่ยวเนื่องกับพระพุทธศาสนา

          อย่างไรก็ตาม ทั้งคำ อรหัน (ที่ไม่มี ต การันต์) และคำ อรหันต์ (ที่มี ต การันต์) ต่างก็เป็นคำที่เขียนถูกต้องด้วยกันทั้งคู่  โดย อรหัน [อ่านว่า ออ-ระ-หัน] เป็นชื่อสัตว์หิมพานต์ ส่วนหัวเป็นคน ตัวเป็นนก มีปรากฏ เช่น จิตรกรรมฝาผนังที่วัดสุทัศนเทพวราราม กรุงเทพฯ  หีบพระธรรม ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร  นอกจากนี้ ยังปรากฏในงานประติมากรรม เช่น ที่วัดอินทราราม (วัดตาล) จังหวัดราชบุรี 

          ส่วน อรหันต์ [อ่านว่า อะ-ระ-หัน หรือ ออ-ระ-หัน] คือ พระอริยบุคคลชั้นสูงสุดใน ๔ ชั้น ได้แก่ พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์ 

          อนึ่ง คำ อรหันต์ นี้ ใช้ อรหา หรือ อรหัง ก็มี แต่ถ้าใช้เป็นคำวิเศษณ์หรืออยู่หน้าสมาส ต้องใช้ อรหันต เช่น อรหันตฆาต หมายถึง การฆ่าพระอรหันต์ นับว่าเป็นบาปหนักที่สุดอย่างหนึ่งในอนันตริยกรรม ๕ อันได้แก่ ๑.ปิตุฆาต คือ ฆ่าบิดา  ๒. มาตุฆาต คือ ฆ่ามารดา  ๓. อรหันตฆาต คือ ฆ่าพระอรหันต์  ๔. โลหิตุปบาท คือ ทำให้พระกายพระพุทธเจ้าห้อเลือด  ๕. สังฆเภท คือ ทำให้สงฆ์แตกแยกกัน

พรทิพย์  เดชทิพย์ประภาพ