อาย (๑)

          อาย ในภาษาไทยโบราณ มีความหมายว่า ไอ คือสิ่งที่ลอยหรือเจืออยู่กับอากาศ โดยมากมองไม่เห็น แต่มักมีกลิ่นหรือมีความร้อนความเย็นให้สังเกตได้. คำนี้ปรากฏในมหาชาติคำหลวงกัณฑ์ทานกัณฑ์ พระมัทรีพรรณนาทุกข์ของหญิงทั้งหลายที่ต้องทำประการต่าง ๆ เพื่อให้ตนสวยงามเป็นที่พึงใจชาย หนึ่งในนั้นคือ ทนอังอายของไฟแม้ในหน้าร้อน และลงอาบน้ำแม้ในหน้าหนาว ความว่า “องงเอาอายอัคนี เพื่อผุดศรีใสสาวบหนีหนาวหน้าตรชัก ลักลงทึกทกไถง” (อ่านว่า อัง-เอา-อาย-อัก-คะ -นี  เพื่อ-ผุด-สี-ใส-สาว   บ่อ-หฺนี-หฺนาว-หฺน้า-ตฺระ -ชัก  ลัก-ลง-ทึก-ทก-ถะ -ไหฺง).  อายอัคนี คือ ไอความร้อนจากไฟ.

          ในอนิรุทธคำฉันท์ตอนพระอนิรุทธลาพระสนม นางสนมคร่ำครวญว่า พระอนิรุทธเสด็จไปในป่าจะต้องละอองฝุ่นและละอองอาย ความพรรณนาว่า

          “อ้าพระเสด็จพนจำรัส                                   พรรณแสงแสงจำรัสองค์
          (อ้า-พฺระ / สะ -เด็ด / พะ-นะ-จำ -หฺรัด         พัน-แสง-แสง / จำ-หฺรัด-อง)
          ชอบเศร้าพระศรีนฤบดีผง                              ธุลีฝุ่นลอองอาย ฯ”
          (ชอบ-เส้า / พฺระ-สี / นะ-รึ-บอ-ดี-ผง            ทุ-ลี-ฝุ่น / ละ-ออง-อาย)

ที่มา :  บทวิทยุรายการ “รู้ รัก ภาษาไทย”  ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๓๐ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๖ เวลา ๗.๐๐-๗.๓๐ น.