เครื่องลำยอง

          หลังคาของอาคารสถาปัตยกรรมไทยมีส่วนประกอบที่ใช้เป็นเครื่องตกแต่งซึ่งมีความสำคัญอย่างหนึ่ง คือ เครื่องลำยอง เครื่องลำยองเป็นตัวไม้แกะสลักปิดหัวท้ายเครื่องมุงหลังคาของอาคารทางพระพุทธศาสนา หรืออาคารที่เกี่ยวเนื่องกับพระมหากษัตริย์ ใช้สำหรับกันลมตีหลังคาเปิด ถ้าเป็นเรือนพักอาศัยทั่วไป เรียกว่า ปั้นลม เครื่องลำยองนี้จะรวมถึง ตัวลำยอง ใบระกา ช่อฟ้า และ หางหงส์ มีลักษณะและตำแหน่งดังนี้

          ตัวลำยองที่วางอยู่บนแปจะมีลักษณะคล้ายลำตัวของพญานาค ในสมัยก่อนตัวลำยองทำด้วยไม้ ตกแต่งมีเส้นกำกับทั้ง ๒ ข้าง ตรงกลางนูนเป็นสัน ตำแหน่งที่วางพาดให้อยู่เหนือแปหัวเสา ทำให้ตัวลำยองมีส่วนที่โค้งขึ้นคล้ายกับลักษณะอาการสะดุ้งของพญานาค จึงเรียกตรงส่วนนี้ว่า นาคสะดุ้ง แปที่รองรับนาคสะดุ้ง เรียกว่า แปหาญ บางอาคารจะทำลักษณะเดียวกันนี้จนถึงแปตัวที่ ๒ แปที่อยู่เหนือนาคสะดุ้ง จะเรียกว่า แปงวง ตัวลำยองจะมีส่วนที่เกี่ยวกระหวัดรัดแปโดยสะบัดปลายเล็กน้อย เรียกว่า งวง หรือ งวงไอยรา เนื่องจากมีลักษณะคล้ายงวงช้าง เหนือตัวลำยองมีใบระกา ใบระกาแต่ละใบจะมีไม้รอยช่วยยึด ตัวลำยองแบบนาคสะดุ้งนี้ปรากฏในสมัยอยุธยาและสมัยรัตนโกสินทร์

          ส่วนที่อยู่ล่างสุดของตัวลำยองเหนือแปหัวเสาคือ หางหงส์ ซึ่งมีลักษณะเป็นหัวนาค ๓ หัวเรียงกันหันหน้าไปทางด้านข้างของอาคาร หางหงส์นี้เป็นแนวความคิดของช่างโบราณที่หมายถึงตัวนาคเลื้อยทอดตัวลงมาตามหัวแป เมื่อถึงหัวแปก็ชูหัวขึ้น จึงมีบางคนเรียกหางหงส์ว่า หัวนาค แต่มีอาคารบางแห่งเช่นพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทจะทำหางหงส์หรือหัวนาคเป็นรูปนาค ๓ เศียร เบือนหน้ามาทางด้านหน้าจั่ว หางหงส์นี้จึงเรียกว่า นาคเบือน

          ความสวยงามของเครื่องลำยองอยู่ที่การลงรักปิดทองหรือประดับกระจกสี หากต้องการจะเห็นเครื่องลำยองที่สวยงามสามารถดูได้ที่พระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม กรุงเทพฯ ซึ่งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงเป็นผู้ออกแบบ

   พัชนะ  บุญประดิษฐ์