เงือก

          เงือกเป็นสัตว์ในนิยาย ตามเรื่องที่เล่ากันต่อ ๆ มา เงือกมีหน้าเล็กกลมเท่างบน้ำอ้อย มีผู้ที่เคยเห็นโผล่ขึ้นมาเหนือน้ำเพียงท่อนบน เป็นผู้หญิงผมยาว จึงเชื่อกันว่าท่อนล่างคงเป็นปลาเพราะอยู่ในน้ำ

          ในวรรณคดีก็มีเรื่องเงือก เช่น ในเรื่องพระอภัยมณี ของสุนทรภู่ เงือกพ่อแม่และลูกสาวช่วยพาพระอภัยมณีหนีนางผีเสื้อสมุทร ต่อมาเงือกลูกสาวมีลูกกับพระอภัยมณีชื่อ สุดสาคร

          คำว่า เงือก ที่ปรากฏในลิลิตพระลอ หมายถึง สัตว์ชนิดหนึ่งใช้คู่กับคำว่างู มีข้อความตอนบรรยายกองทัพผีที่ปู่เจ้าสมิงพรายส่งเข้ามาในเมืองของพระลอว่า “ตัวขุนให้ขี่ช้าง บ้างขี่เสือขี่สีห์ บ้างขี่หมีขี่หมู บ้างขี่งูขี่เงือก

          คำว่า เงือก น่าจะเป็นคำไทย พระยาอนุมานราชธนค้นคำว่า เงือก ในภาษาไทต่าง ๆ พบว่าภาษาไทอาหม เงือกแปลว่าสัตว์น้ำในนิยาย นาคน้ำ. ในภาษาไทใหญ่ เงือกแปลว่าจระเข้. ในภาษาไทขาว เงือกแปลว่างูที่ปรากฏในนิยายว่าอยู่ตามห้วย

ที่มา :  บทวิทยุรายการ “รู้ รัก ภาษาไทย” ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๑๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๕ เวลา ๗.๐๐-๗.๓๐ น.