เทพชุมนุม

          “เทพชุมนุม” ในจิตรกรรมฝาผนังนั้น มีหลักฐานปรากฏว่าเป็นเรื่องราวที่นิยมนำมาเขียนกันตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาตอนปลายและสืบต่อมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ภาพเทพชุมนุมจัดได้ว่าเป็นภาพแสดงเหตุการณ์ตอนสำคัญที่สุดในพุทธประวัติ จะเห็นว่า ช่างเขียนโบราณให้ความสำคัญกับภาพนี้มาก โดยวางตำแหน่งของภาพเทพชุมนุมไว้บนฝาผนังด้านข้างตอนบน เป็นภาพใหญ่เต็มพื้นที่ผนังอุโบสถ

          แบบแผนการจัดวางตำแหน่งภาพจิตรกรรมซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นแบบประเพณีนิยมแต่โบราณ มีดังนี้ คือบริเวณผนังหุ้มกลองตอนบนด้านตรงข้ามพระพุทธรูปประธานมักเขียนภาพเต็มผนังตอนมารผจญ ผนังหุ้มกลองด้านหลังพระพุทธรูปประธานส่วนใหญ่มักเขียนภาพไตรภูมิโลกสัณฐานหรืออาจเป็นภาพเทศนาดาวดึงส์ประกอบอยู่กับฉากจักรวาล  ผนังด้านข้างตอนล่างระหว่างช่องหน้าต่างมักเขียนภาพพุทธประวัติ ทศชาติ หรือมหาเวสสันดรชาดก ผนังด้านข้างตอนบนทั้ง ๒ ข้าง มักเขียนเป็นภาพเทพชุมนุมเรียงเป็นแถวตลอดความยาวของผนังหันพระพักตร์สู่พระพุทธรูปประธาน ซึ่งสันติ  เล็กสุขุม สันนิษฐานว่า หมายถึงเหตุการณ์เทพชุมนุมภายหลังการตรัสรู้ของพระพุทธองค์  ตามเรื่องราวที่กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรสทรงพรรณนาไว้ในปริจเฉทที่ ๑๐ อภิสัมโพธิปริวัตต์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพระปฐมสมโพธิกถา

          มีผู้ให้ความเห็นที่สอดคล้องกันไว้ว่า ภาพจิตรกรรมเรื่องเทพชุมนุมเป็นเรื่องราวที่ต่อเนื่องมาจากภาพพระพุทธประวัติเต็มผนังตอนมารผจญที่บริเวณผนังหุ้มกลองตอนบนด้านตรงข้ามพระพุทธรูปประธาน  นั่นคือ เมื่อพระพุทธองค์ทรงบำเพ็ญบารมีเพื่อตรัสรู้ พญามารมาแกล้งต่าง ๆ นานา แต่ก็ไม่สำเร็จ พระพุทธองค์ทรงชนะพญามารโดยมีพระแม่ธรณีเป็นพยาน พระพุทธรูปประธานในอุโบสถจึงเป็นปางมารวิชัย  ส่วนภาพเทพชุมนุมที่เรียงเป็นแถวตลอดความยาวของผนังอุโบสถ ซึ่งทั้งหมดหันพระพักตร์สู่พระพุทธรูปประธานปางมารวิชัย ก็หมายถึง ฝูงทวยเทพที่พร้อมกันมาถวายชัยแด่พระพุทธองค์.

รัตติกาล  ศรีอำไพ