เพลิดเพลิน

          เพลิดเพลิน หมายความว่า ปล่อยอารมณ์อยู่กับสิ่งที่ชอบใจ ไม่รู้จักเบื่อ เช่น เราเพลิดเพลินกับธรรมชาติรอบข้าง. ป้านอนดูละครโทรทัศน์อย่างเพลิดเพลิน

          คำว่า เพลิดเพลิน ประกอบด้วยคำว่า เพลิด และ เพลิน. เพลิน ก็มีความหมายทำนองเดียวกับเพลิดเพลิน คือหมายถึง ปล่อยอารมณ์อยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ชอบใจจนลืมนึกถึงสิ่งอื่น เช่น ผู้หญิงคนนี้สวยจริง ๆ ดูเพลินไม่รู้จักเบื่อ. เขาเพลินฟังเพลงจนไม่ได้ยินเสียงเรียก. เด็ก ๆ มัวเล่นเพลินไม่หิวข้าว. เขาเพลินอยู่กับงานจนลืมความเหงาไปได้. คำว่า เพลิน อาจซ้ำคำเป็น เพลิน ๆ ใช้ขยายคำกริยา เช่น ฉันกำลังอ่านหนังสือเพลิน ๆ ก็ได้ยินเสียงเคาะประตู.

          ส่วนคำว่า เพลิด ปัจจุบันไม่ใช้ลำพัง ต้องใช้ซ้อนกับคำว่า เพลิน เป็น เพลิดเพลิน แต่ในสมัยก่อนใช้ลำพังก็ได้ เช่นในกฎหมายตราสามดวงมีข้อความว่า “อนึ่ง ถ้าไถนาเพลิดเหยียบเข้า (ข้าว) ท่านเสีย ให้ปลดเอาวัวไว้ตัวหนึ่ง” เมื่อพิจารณาจากบริบท เพลิด น่าจะมีความหมายคล้าย เตลิด คือหมายถึง เลยกำหนดไปยั้งไม่ทัน. เมื่อซ้อนคำว่า เพลิด กับคำว่า เพลิน เป็น เพลิดเพลิน จึงหมายถึง ปล่อยอารมณ์อยู่กับสิ่งที่ชอบใจเรื่อยไปไม่รู้จักเบื่อ

ที่มา :  บทวิทยุรายการ “รู้ รัก ภาษาไทย” ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕ เวลา ๗.๐๐-๗.๓๐ น.