เสน่ห์เสน่หา

          คำว่า เสน่ห์ ยืมมาจากภาษาสันสกฤตว่า เสฺนห แปลว่า สิ่งที่ติดแน่น หมายถึง น้ำมันหรือยางเหนียว ๆ ซึ่งเมื่อติดกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งแล้ว เช็ดให้ออกได้ยาก เมื่อนำมาใช้เป็นความเปรียบ เสน่ห์ หมายถึง ความรัก ความชอบพอ ซึ่งเมื่อเกิดแก่ใครแล้วก็เหมือนติดแน่นในดวงใจ พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ อธิบายคำนี้ไว้ ๒ ความหมาย แต่ละความหมายล้วนเป็นคำนามที่เกี่ยวกับความรัก ความชอบพอ ทั้งสิ้น นอกจากนี้ หนังสือ รู้ รัก ภาษาไทย เล่ม ๔ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ยังอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับคำนี้ไว้ด้วย รวมความได้ดังนี้

          ความหมายแรกของคำว่า เสน่ห์ หมายถึง ลักษณะที่ชวนให้รัก เช่น เธอเป็นคนมีเสน่ห์ ตามความหมายนี้ทำให้เกิดสำนวน เสน่ห์ปลายจวัก หมายถึง เสน่ห์ของผู้หญิงที่เกิดจากฝีมือปรุงอาหาร ทำให้สามีรักและหลง อีกความหมายหนึ่งหมายถึง วิธีการทางไสยศาสตร์ที่ทำให้คนอื่นรัก เช่น เขาถูกเสน่ห์ คำว่า เสน่ห์ ตามความหมายนี้พบในคำว่า เสน่ห์ยาแฝด หมายถึง คุณไสยที่ผู้หญิงทำให้ชายหลงรักโดยใช้วิธีให้ผู้ชายกินยาหรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่กำกับด้วยคาถาทางไสยศาสตร์

          นอกจากคำว่า เสน่ห์ แล้ว ยังมีอีกคำหนึ่งที่มีความหมายเหมือนกันคือ คำว่า เสน่หา คำนี้เป็นได้ทั้งคำนามและคำกริยา ถ้าเป็นคำนาม แปลว่า ความรักและผูกพันซาบซึ้งแบบรักเพศตรงข้าม มักใช้เป็นภาษาที่มีลีลาแบบวรรณกรรม เช่น การศึกมิหน่ายเล่ห์กล เกมรักก็มิหน่ายเล่ห์เสน่หาดุจเดียวกัน เมื่อใช้เป็นคำกริยา เสน่หา แปลว่า รัก เช่น พบกันครั้งแรก ไม่เคยคิดเสน่หา แต่พอรู้จักไปนาน ๆ ฉันก็เกิดหลงรักเขาจนถอนตัวไม่ขึ้น นอกจากนี้ ยังอาจใช้ในทำนองประชดได้ด้วย เช่น นึกว่าฉันเสน่หาเธอนักรึ ถึงเวียนมาหาได้ทุกวี่ทุกวัน.

อารยา ถิรมงคลจิต