เสือตกถัง

          ถ้าหากเอ่ยถึง “เสือตกถัง” เด็ก ๆ รุ่นใหม่คงไม่มีใครรู้จักการเล่นชนิดนี้กันมากนัก  เพราะเด็กสมัยใหม่นี้จะรู้จักแต่เกมส์คอมพิวเตอร์กันเสียมากกว่า  แต่หากเป็นรุ่นพ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ก็คงรู้จักกันไม่มากก็น้อยว่า “เสือตกถัง” คืออะไร  ในหนังสือสารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถานได้เล่าถึง “เสือตกถัง” ไว้ว่า

          เสือตกถังเป็นการเล่นดั้งเดิมของเด็กไทยที่เล่นกันมาไม่ต่ำกว่า ๑๐๐ ปีแล้ว การเล่นเสือตกถังเป็นการเล่นแข่งขันประเภทในร่ม  ใช้ผู้เล่นเพียง ๒ คน ใช้ตัวเดิน ๒ คู่ แต่ละคู่ใช้วัสดุชนิดเดียวกัน  ซึ่งอาจใช้ก้อนหิน กระดุม หรือฝาขวด ก็ได้  อุปกรณ์การเล่นอีกชิ้นหนึ่งคือ แผ่นกระดาษขีดตารางเล่นเป็นรูปกากบาท หรือสมัยก่อนใช้แป้งเม็ดขีดตารางบนพื้นบ้าน  ผู้เล่นทั้งคู่จะวางตัวเดินของตนลงบนจุด ๒ จุด ที่ปลายเส้นเดียวกันของตารางเดิน  ผู้เล่นผลัดกันเดินโดยอาจเดินไปยังจุดว่างที่ไม่มีตัวเดินวางอยู่ หรือเดินไปยังจุดกากบาทก็ได้  ผู้เล่นที่จนมุม ไม่สามารถเดินผ่านจุดอื่นยกเว้นจุดที่เป็นถังถือว่าแพ้  การเล่นเสือตกถังเล่นกันแพร่หลายในภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ แต่ที่ตำบลสบตุ๋ย จังหวัดลำปาง  เรียกการเล่นนี้ว่า แสงตะวัน ภาคใต้ที่อำเภอสะทิงพระ จังหวัดสงขลา เรียกว่า จะบูมูลู  นอกจากนี้ เด็กมาเลเซียก็ยังมีการเล่นชนิดนี้ด้วยเช่นกัน เรียกว่า Telega Buruk

          การเล่นเสือตกถังจัดได้ว่าเป็นการเล่นฝึกสอนพฤติกรรมการแข่งขัน การรู้จักใช้ยุทธวิธีวางแผนการเดิน การสะกัดกั้น และกักต้อนให้ฝ่ายตรงข้ามจนมุม และเป็นฝ่ายแพ้  เสือตกถังเป็นการฝึกทักษะด้านสติปัญญาให้แก่เด็กโดยใช้อุปกรณ์การเล่นที่หาง่าย  และสามารถเล่นได้ทุกครอบครัว  หากครอบครัวในสมัยนี้สอนให้เด็ก ๆ  เรียนรู้การเล่นในอดีตบ้างก็น่าจะมีประโยชน์มิใช้น้อย และยังช่วยรักษาการเล่นดั้งเดิมที่มีคุณค่าของไทยด้วย.

         อิสริยา  เลาหตีรานนท์