โขลนทวาร

          สารานุกรมประวัติศาสตร์ไทย เล่ม ๒ อักษร ข-จ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน กล่าวไว้ว่า โขลนทวาร หมายถึง ประตูป่า เป็นประตูที่สร้างขึ้นชั่วคราวสำหรับใช้ในพิธีกรรมที่เป็นสิริมงคลและขจัดความอัปมงคลแก่ผู้ที่เดินผ่าน พิธีนี้ เรียกว่า พิธีโขลนทวาร นิยมทำทั้งพิธีหลวงและพิธีราษฎร์  การประกอบพิธีโขลนทวารที่เป็นพิธีหลวงนั้น จัดขึ้นในโอกาสที่สำคัญ ๓ วาระ คือ (๑) ในการยกทัพออกจากเมืองเพื่อไปทำศึกสงคราม ทำให้เกิดขวัญและกำลังใจในการรบเอาชนะข้าศึกศัตรู (๒) ในการรับกองทัพที่ได้ชัยชนะกลับมาเพื่อขจัดอุปัทวันตราย ขับเสนียดจัญไร วิญญาณข้าศึกไม่ให้ติดตามตัวทหาร เครื่องศัสตราวุธ ช้างม้าเข้ามาในเมือง และเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ทหารที่กลับมา (๓) ในการรับช้างสำคัญเข้าเมือง เพื่อสมโภชช้างเผือกตลอดการเดินทาง ก่อนจะประกอบพิธีสมโภชขึ้นระวางในเมืองหลวง

          พิธีตั้งโขลนทวารในการยกทัพออกจากเมืองต้องประกอบร่วมกับพิธีตัดไม้ข่มนาม การประกอบพิธีต้องมีสถานที่สำหรับพระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์และสวดชยันโต ตั้งพระพุทธรูปพร้อมเครื่องบูชา บาตรน้ำพระพุทธมนต์ จับสายสิญจน์วงรอบโขลนทวารพอให้พระสงฆ์ถือสวดได้ และยังมีพราหมณ์หมอเฒ่า ๒ คน พราหมณ์พิธี ๒ คน ทำหน้าที่ประพรมน้ำเทพมนตร์และเป่าสังข์ มีเกยหอ ๒ เกยสำหรับพระสงฆ์ประพรมน้ำพระพุทธมนต์และพราหมณ์ประพรมน้ำเทพมนตร์เมื่อเวลาทหารช้างม้าผ่านโขลนทวาร ส่วนการตัดไม้ข่มนามต้องเอาต้นไม้ที่มีชื่อร่วมตัวอักษรกับชื่อข้าศึกมาสมมติว่าเป็นตัวข้าศึก เอาพระแสงอาชญาสิทธิ์ฟันต้นไม้นั้นแล้วให้ทหารเดินข้ามไปเป็นการข่มนามข้าศึก

          ส่วนพิธีราษฎร์ มีการสร้างประตูป่าสำหรับชักศพลอดผ่านจากบ้านไปยังวัด เพื่อทำพิธีเผาหรือฝังหรือเก็บไว้รอทำพิธี ในการชักศพไปวัดจะตั้งประตูป่าตรงประตูที่จะนำศพออก โดยนำกิ่งไม้ ๒ กิ่งมาปักตั้งปลายขึ้น จับเป็นวงโค้งผูกประกบกัน ขนาดกว้างและสูงพอที่จะหามหีบศพลอดผ่านได้ เวลาหามหีบศพลอดประตูป่าต้องเอาด้านปลายเท้าศพออกก่อน เพื่อไม่ให้วิญญาณผู้ตายมองเห็นบ้าน ทำให้เกิดอาลัยหวนกลับบ้าน เมื่อหามหีบศพลอดผ่านประตูป่าแล้วต้องรื้อประตูป่าทิ้งทันที เพื่อทำลายเส้นทางไม่ให้วิญญาณจำทางเข้าบ้านได้.

ปิยรัตน์  อินทร์อ่อน