โต๊ะ

          โต๊ะ  เขียน เป็นคำที่มาจากภาษาจีนแต้จิ๋วว่า เตาะ. โต๊ะ มีหลายความหมาย ความหมายแรกหมายถึง สิ่งที่ทำด้วยไม้หรือวัสดุอื่น ๆ ทำเป็นพื้นแบนราบ มีขา  มีแบบต่าง ๆ การเรียกชื่อมีวิธีเรียกได้หลายวิธี  ได้แก่  เรียกตามรูปร่าง  เช่น  โต๊ะกลม  โต๊ะเหลี่ยม  โต๊ะยาว  เรียกตามวัสดุที่ทำ เช่น  โต๊ะมุก  โต๊ะหินอ่อน  โต๊ะไม้สัก  เรียกตามวัตถุประสงค์ที่ใช้  เช่น  โต๊ะเขียนหนังสือ  โต๊ะอาหาร  โต๊ะเครื่องแป้ง.  ลักษณนามของโต๊ะ ใช้ว่า ตัว.   โต๊ะสำหรับตั้งเครื่องบูชาซึ่งประกอบด้วยโต๊ะหรือม้าสี่ขาหลายตัวจัดตั้งรวมกันเป็นหมู่ มีหมู่ ๓  หมู่ ๔  หมู่ ๕  หมู่ ๗  หมู่ ๙  และหมู่ ๑๑  เรียกว่า โต๊ะหมู่ หรือ โต๊ะหมู่บูชา ซึ่งแต่เดิมไม่ได้เรียก โต๊ะหมู่บูชาแต่เรียกว่า ม้าหมู่บูชา. ใช้ลักษณนามว่า หมู่.  ส่วนโต๊ะที่จัดเป็นกิจกรรม เช่น โต๊ะอาหาร โต๊ะลงทะเบียน โต๊ะประชุม ใช้ลักษณนามว่า โต๊ะ เช่น งานเลี้ยงจัดโต๊ะจีน ๕๐๐ โต๊ะ.  จัดประชุมกลุ่มเล็ก ๓ โต๊ะ.   

          อีกความหมายหนึ่ง หมายถึง ภาชนะมีเชิงสูงรูปคล้ายพาน  มีพื้นตื้นสำหรับวางหรือใส่สิ่งของ (พานจะมีพื้นลึก) มักทำด้วยโลหะ เช่น เงิน  ทองคำ  ทองเหลือง (ปัจจุบันมีพลาสติกเคลือบสีทอง)

ที่มา :  บทวิทยุรายการ “รู้ รัก ภาษาไทย”  ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๑๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๕ เวลา ๗.๐๐-๗.๓๐ น.