โมฆะโมฆียะ

โมฆะ กับ โมฆียะ เป็นคำกฎหมายที่คนส่วนใหญ่เคยได้ยิน แต่อาจยังสงสัยถึงความหมายและความแตกต่างของคำดังกล่าว ผู้เขียนขออธิบายง่าย ๆ ดังนี้ค่ะ

          โมฆะ แปลว่า เสียเปล่า ไม่มีผลบังคับหรือผูกพันตามกฎหมาย เช่น สัญญาเป็นโมฆะ  และเมื่อกล่าวถึงคำ โมฆะ แล้ว  ขออธิบายคำว่า โมฆกรรม  ที่แปลว่า นิติกรรมที่เสียเปล่า ไม่มีผลบังคับหรือผูกพันตามกฎหมาย ไม่อาจให้สัตยาบันแก่กันได้ และผู้มีส่วนได้เสียคนใดคนหนึ่ง จะยกความเสียเปล่าขึ้นกล่าวอ้างก็ได้ เช่น การที่บุคคลหนึ่งทำสัญญาซื้อขายยาบ้ากับบุคคลอื่น ซึ่งเป็นสัญญาที่ขัดต่อกฎหมายและความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน สัญญานั้นตกเป็นโมฆะ 

          โมฆียะ แปลว่า ที่อาจเป็นโมฆะได้เมื่อมีการบอกล้าง หรือมีผลสมบูรณ์เมื่อมีการให้สัตยาบัน  และเมื่อกล่าวถึงคำ โมฆียะ แล้ว  ขออธิบายคำว่า โมฆียกรรม ที่แปลว่า นิติกรรมซึ่งอาจบอกล้าง เพิกถอน หรือให้สัตยาบันได้  ถ้าบอกล้างก็เป็นโมฆะมาแต่เริ่มแรก  ถ้าให้สัตยาบันก็มีผลสมบูรณ์มาแต่เริ่มแรก  อธิบายเข้าใจง่าย ๆ คือ นิติกรรมที่เป็นโมฆียะนั้น เป็นนิติกรรมที่กระทำโดยผู้มีสิทธิ์ แต่สิทธิ์นั้นยังไม่สมบูรณ์ อาจเป็นเพราะด้วยสาเหตุต่าง ๆ เช่น ด้วยความอ่อนอายุ ด้วยความไร้ความสามารถตามคำสั่งศาล  แต่อาจจะสมบูรณ์ได้โดยการให้สัตยาบัน ซึ่งก็คือการรับรองโดยผู้มีอำนาจ  เช่น การที่เด็กหรือผู้เยาว์ทำนิติกรรมซื้อขายทรัพย์สินเกินฐานานุรูปของตนเอง เป็นต้นว่าไปทำสัญญาซื้อขายบ้านหรือรถยนต์กับบุคคลภายนอก โดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้ปกครองของผู้เยาว์ก่อน   สัญญาซื้อขายนั้นก็เป็นโมฆียกรรม  ทั้งนี้  ถ้าผู้ปกครองให้สัตยาบันก็ถือว่านิติกรรมนั้นมีผลสมบูรณ์มาตั้งแต่เริ่มแรก  แต่ถ้าผู้ปกครองบอกล้างหรือไม่ให้สัตยาบัน นิติกรรมนั้นก็จะเป็นโมฆะมาตั้งแต่ต้น  ค่ะ.

กนกวรรณ  ทองตะโก