โอม

          โอม เป็นคำที่ประกอบด้วยเสียง ๓ เสียง คือ  อะ อุ มะ  ซึ่งเป็นเสียงพยางค์ท้ายของนามเทพเจ้าทั้ง ๓ ในศาสนาพราหมณ์หรือฮินดู คำว่า อะ มาจากชื่อพระศิวะ หรือพระอิศวร.   คำว่า อุ มาจาก ชื่อพระวิษณุ หรือพระนารายณ์.  คำว่า มะ มาจากชื่อพระพรหม เมื่อรวมเสียง อะ อุ มะ  เป็นคำว่า โอม จึงถือเป็นคำศักดิ์สิทธิ์ มักใช้เป็นคำขึ้นต้นของการกล่าวมนตร์ เช่น บทสวดบูชาพระพิฆเนศ ขึ้นต้นว่า โอมคะเนศายะ  นะมะหะริโอม

          ผู้ที่นับถือศาสนาพุทธ ได้นำคำว่า โอม มาใช้และบอกที่มาให้เข้ากับความเชื่อในพระพุทธศาสนา หมายถึงพระรัตนตรัย คือ อะ อุ มะ ซึ่งมาจากพยางค์ต้นของคำ ๓ คำ ได้แก่ อะ มาจากคำว่า อรหัง (อ่านว่า อะระ -หัง) หมายถึงพระพุทธเจ้า. อุ มาจากคำว่า อุตตมธรรม (อ่านว่า อุด-ตะ -มะ-ทำ) หมายถึงพระธรรมอันสูงสุด  และ มะ มาจากคำว่า มหาสงฆ์ หมายถึงพระสงฆ์.  ชาวพุทธมักจะเปล่งเสียง โอม แล้วตามด้วยเสียง เพี้ยง เมื่อต้องการขอพร ขอความช่วยเหลือ  หรือตั้งจิตอธิษฐานให้เป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น โอมเพี้ยง ขอให้ผมสอบได้คะแนนดี ๆ ด้วยเถิด.  แม่เป่าแผลให้ลูกที่เดินหกล้มหัวเข่าถลอก แล้วพูดว่า โอมเพี้ยงขอให้หายเร็ว ๆ นะลูก.

ที่มา :  บทวิทยุรายการ “รู้ รัก ภาษาไทย”  ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๑๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๔ เวลา ๗.๐๐-๗.๓๐ น.