ไหลตาย หรือ ใหลตาย

         ข่าวคนงานไทยที่เดินทางไปขายแรงงานที่ประเทศสิงคโปร์และตะวันออกกลางแล้วเกิดเสียชีวิตติด ๆ กันจำนวนสิบกว่ารายและทุกคนตายในลักษณะเดียวกันคือในขณะนอนหลับ เหตุการณ์นี้สร้างความพรั่นพรึงแก่คนงานอื่น ๆ ซึ่งมีสภาพความเป็นอยู่ที่คล้ายคลึงกับผู้เสียชีวิตทุกคน เฉพาะอย่างยิ่งในหมู่คนงานที่เป็นชาวอีสาน ทั้งวงการแพทย์ไทยและสิงคโปร์ยังไม่สามารถหาคำอธิบายสาเหตุการตายของคนงานเหล่านั้นได้  บ้างว่าเกิดจากสารพิษจากท่อพีวีซีที่ใช้หุงข้าวเหนียว ประกอบกับทำงานหนัก และความเครียด บ้างว่าเกิดจากการขาดธาตุอาหาร ประกอบกับปัจจัยแวดล้อมอื่น ๆ ไม่เพียงแต่สาเหตุของโรคนี้ที่ยังหาข้อสรุปลงตัวไม่ได้ แม้แต่การเขียนชื่อโรคนี้ในภาษาไทยที่สื่อมวลชนใช้อยู่ก็มีความสับสนไม่น้อยว่าจะใช้ ไหลตาย หรือ ใหลตาย

         ในภาษาไทยมีกำหนดกฎเกณฑ์เรื่องการใช้ไม้ม้วน (ใ) และไม้มลาย (ไ) ไว้แน่นอนว่า คำที่ใช้ ใ นั้นมีอยู่เพียง ๒๐ คำเท่านั้น และเพื่อให้จดจำกันได้ง่ายว่ามีคำใดบ้าง โบราณท่านก็ได้นำคำทั้ง ๒๐ คำนั้นผูกเป็นคำประพันธ์เพื่อท่องจำ บทที่คุ้นเคยกันดี คือ

        ใฝ่ใจให้ทานนี้         นอกในมีและใหม่ใส
        
ใครใคร่และยองใย         อันใดใช้และใหลหลง
        
ใส่กลสะใภ้ใบ้                ทั้งต่ำใต้และใหญ่ยง
        
ใกล้ใบและใช่จง            ใช้ให้คงคำบังคับ


         นอกจาก ๒๐ คำนี้ ให้ใช้ ไ ทั้งสิ้น ซึ่งรวมทั้งคำที่ยืมมาจากภาษาต่างประเทศหรือคำทับศัพท์ภาษาต่างประเทศด้วย เช่น ไอศกรีม ไดนาโม ไฮโดรเจน

         โรคที่เกิดขึ้นจนเป็นข่าวครึกโครมนี้ ในประเทศไทยมีรายงานทางการแพทย์ยืนยันได้ว่า สถิติผู้เสียชีวิตในลักษณะนอนหลับและตายไปมีอุบัติการณ์กับคนอีสานมากกว่าภาคอื่น ๆ และเป็นโรคที่มีมานานแล้ว แต่ยังไม่ทราบสาเหตุที่ทำให้เสียชีวิต ชาวอีสานจึงรู้จักโรคนี้ดี และเรียกว่า โรคไหลตาย (คำ ไหล เขียนด้วย ไ)

         จากการสอบหาคำ ไหล จากพจนานุกรมภาษาถิ่นอีสานที่มีผู้จัดทำขึ้น ได้แก่ พจนานุกรมอีสาน-กลาง ฉบับมหาวิทยาลัยขอนแก่น-สหวิทยาลัยอีสาน สารานุกรมภาษาอีสาน-ไทย-อังกฤษ ของ ดร.ปรีชา พิณทอง และพจนานุกรมภาษาถิ่นอีสาน-ภาคกลาง ฉบับปณิธาน สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ติสสมหาเถระ) พิมพ์ครั้งที่ ๗ พุทธศักราช ๒๕๑๕ พบแต่คำ ไหล เพียงคำเดียว ไม่มีคำ ไหล เฉพาะฉบับของสมเด็จพระมหาวีรวงศ์เท่านั้นที่ให้ความหมายของคำ ไหล ไว้ ๒ ความ ความหมายแรก คือ เลื่อนไป เคลื่อนที่ไปอย่างของเหลวเช่นน้ำ ซึ่งตรงกับ ๒ ฉบับแรก และความหมายนี้ก็เป็นความหมายเดียวกับของภาคกลาง ส่วนความหมายที่ ๒ ให้คำอธิบายไว้ว่า นอนหลับเพ้อไป พูดในเวลาหลับ ทำหรือแสดงโดยไม่รู้สึกตัว-ละเมอและเมื่อสอบถามคนอีสานถึงความหมายของคำไหล ก็ได้ความตรงกันว่า คือ ละเมอ

         ในพจนานุกรมล้านนา-ไทย ฉบับแม่ฟ้าหลวง พ.ศ. ๒๕๓๓ ซึ่งเป็นฉบับร่างที่ ๒ เก็บคำ “ใหล” ว่า “ก. ละเมออย่างหลับใหล-นอนละเมอ หลงใหล-หลงละเมอ หรือ พูดอยู่ตามลำพัง ทั่วไปเขียนเป็น ไหล” หมายความว่า คำชี้เฉพาะถิ่นล้านนาเขียนโดยใช้ไม้ม้วน

         พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ไม่มีคำว่า ใหล คงมีแต่คำ หลงใหล ซึ่งอยู่ในลูกคำของ หลง ส่วนที่คำ ไหล ให้ความหมายไว้ ๔ อย่าง คือ เป็นชื่อปลาชนิดหนึ่ง ส่วนของพืชบางชนิด โลหะชนิดหนึ่ง และ อาการเคลื่อนที่ไปอย่างของเหลวเช่นน้ำ เลื่อนไป ส่วน คำ หลับใหล มีอยู่ในหนังสือ อ่านอย่างไร เขียนอย่างไร ของราชบัณฑิตยสถาน พิมพ์ครั้งที่ ๘ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม

         ผู้ที่เห็นควรให้เขียนว่า ใหลตาย ก็อ้างเหตุผลว่าเพราะเกิดขึ้นกับผู้ที่นอนหลับใหล คือนอนหลับสนิทแล้วตายไปในที่สุด ส่วนผู้ที่เอนมาใช้คำ ไหลตาย ก็เห็นว่าไหลเป็นคำภาษาถิ่นอีสาน มีความหมายเนื่องจากการนอนละเมอ เพราะโรคนี้มีลักษณะของการนอนละเมอก่อนที่จะตาย นอกจากนี้ ยังเป็นชื่อเฉพาะของโรคชนิดหนึ่ง ควรถือเป็นวิสามานยนาม ซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้ตัวสะกดตามกฎเกณฑ์  อีกทั้งคำนี้ยังไม่อยู่ในกลุ่มคำที่กำหนดให้ใช้ “ใ” ด้วย จึงน่าจะใช้ว่า ไหลตาย

         ดังนั้น ปัญหาว่าจะใช้ ไหลตาย หรือ ใหลตาย ก็ยังเป็นประเด็นที่นักภาษาต้องวิเคราะห์กันต่อไปเช่นเดียวกับสาเหตุของโรคนี้ซึ่งแพทย์กำลังสอบหาอยู่เช่นกัน.

ที่มา : จดหมายข่าวราชบัณฑิตยสถาน  ปีที่ ๒ ฉบับที่ ๑๓ มกราคม ๒๕๓๓