กกุธภัณฑ์

          จดหมายข่าวราชบัณฑิตยสถานได้เคยนำคำอธิบายศัพท์บางคำที่น่าสนใจในหนังสือสารานุกรมประวัติศาสตร์ไทย อักษร ก ฉบับราชบัณฑิตยสถานมาเผยแพร่ในจดหมายข่าวฯ บ้างแล้ว แต่ยังมีคำอธิบายศัพท์อีกหลายคำที่น่าสนใจและมีประชาชนได้สอบถามมาบ่อยครั้ง  เช่น คำว่า เครื่องราชกกุธภัณฑ์ ซึ่งคำนี้ นางสาววีณา โรจนราธา ได้อธิบายไว้ในหนังสือสารานุกรมประวัติศาสตร์ไทยเล่มดังกล่าว โดยเก็บไว้ที่คำ กกุธภัณฑ์ คณะผู้จัดทำเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่าน จึงขอนำคำอธิบายดังกล่าวมาเสนอ ดังนี้

          กกุธภัณฑ์ หรือ เครื่องราชกกุธภัณฑ์ ตามรูปศัพท์แปลว่าเครื่องใช้สำหรับพระมหากษัตริย์ แต่มีความสำคัญยิ่งเพราะเป็นเครื่องหมายแห่งความเป็นพระราชาธิบดี จึงเป็นสิ่งที่จะต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก  เครื่องราชกกุธภัณฑ์ประกอบด้วย ฉัตร มงกุฎ พระแสงขรรค์ ธารพระกร วาลวีชนี และฉลองพระบาท

          การถวายเครื่องราชกกุธภัณฑ์ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็นประเพณีสืบเนื่องมาจากลัทธิพราหมณ์ ที่มีพราหมณ์ (พระมหาราชครู) เป็นผู้กล่าวคำถวาย ตามคติความเชื่อว่าพระมหากษัตริย์เป็นสมมุติเทพ เครื่องราชกกุธภัณฑ์จึงล้วนเป็นสัญลักษณ์แห่งเทพทั้งสิ้น ดังที่กล่าวไว้ในปัญจราชาภิเษกความว่า 
               เศวตฉัตร ๖ ชั้น หมายถึง สวรรค์ ๖ ชั้น 
               พระมหามงกุฎ หมายถึง ยอดวิมานของพระอินทร์ 
               พระขรรค์ หมายถึง พระปัญญาอันจะตัดมลทินถ้อยความไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน 
               เครื่องประดับผ้ารัตกัมพล หมายถึง เขาคันธมาทน์อันประดับเขาพระสุเมรุราช (ต่อมาใช้วาลวีชนีแทน) 
               เกือกแก้ว (ฉลองพระบาท) หมายถึง แผ่นดินอันเป็นที่รองรับเขาพระสุเมรุราช และเป็นที่อาศัยแก่อาณาประชาราษฎร์ทั้งหลายทั่วแว่นแคว้นขอบขัณฑสีมา

          ไทยรับคติความเชื่อนี้มาจากขอมซึ่งรับทอดมาจากอินเดียอีกต่อหนึ่ง ประเพณีการถวายเครื่องราชกกุธภัณฑ์ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของไทยมีปรากฏมาแต่ครั้งสมัยสุโขทัย ดังความในศิลาจารึกวัดศรีชุม (จารึกหลักที่ ๒ ประมาณ พ.ศ. ๑๘๘๔-๑๙๑๐) เมื่อพ่อขุนผาเมืองอภิเษกพ่อขุนบางกลางหาวให้ครองเมืองสุโขทัยนั้น ได้มอบ “ขรรค์ชัยศรี” ที่พ่อขุนผาเมืองได้รับพระราชทานจากกษัตริย์ขอมให้พ่อขุนบางกลางหาวด้วย และในศิลาจารึกวัดป่ามะม่วง ภาษาขอม (จารึกหลักที่ ๔ พ.ศ. ๑๙๐๔) กล่าวถึงเครื่องราชกกุธภัณฑ์ในพิธีบรมราชาภิเษกพระมหาธรรมราชาที่ ๑ (ลิไทย) ว่ามี มกุฎพระขรรค์ชัยศรี และเศวตฉัตร และในสมัยอยุธยาก็ยึดถือพระราชประเพณีนี้สืบต่อมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์

          เครื่องราชกกุธภัณฑ์ที่พระมหาราชครูถวายในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในสมัยรัตนโกสินทร์ ประกอบด้วย พระมหาเศวตฉัตร พระมหาพิชัยมงกุฎ พระแสงขรรค์ชัยศรี ธารพระกร วาลวีชนี และฉลองพระบาทเชิงงอน ซึ่งมีประวัติความเป็นมาดังนี้

          พระมหาเศวตฉัตรหรือพระนพปฎลมหาเศวตฉัตร เป็นฉัตร ๙ ชั้น หุ้มผ้าขาวมีระบาย ๓ ชั้น ขลิบทองแผ่ลวด มียอด พระมหาเศวตฉัตรนี้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรับสั่งให้หุ้มด้วยผ้าขาวแทนตาด ถือเป็นเครื่องราชกกุธภัณฑ์ที่สำคัญยิ่งกว่าราชกกุธภัณฑ์อื่น ๆ และในรัชกาลปัจจุบันทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำขึ้นถวายที่พระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรหลังจากทรงรับน้ำอภิเษกแล้ว จากนั้น เจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังก็เชิญไปปักกางไว้เหนือพระที่นั่งภัทรบิฐ ต่อมา เมื่อเสด็จพระราชดำเนินขึ้นประทับ ณ พระที่นั่งภัทรบิฐ เพื่อทรงรับเครื่องสิริราชกกุธภัณฑ์ จึงไม่ต้องถวายเศวตฉัตรรวมกับเครื่องราชกกุธภัณฑ์อื่นอีก

          แต่เดิมในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระมหากษัตริย์ไทยบางรัชกาล มิได้กล่าวรวมพระมหาเศวตฉัตร หรือเศวตฉัตรเป็นเครื่องราชกกุธภัณฑ์ด้วย เพราะฉัตรเป็นของใหญ่โต มีปักอยู่แล้วเหนือพระที่นั่งภัทรบิฐ จึงถวายธารพระกรแทน จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

          พระมหาพิชัยมงกุฎ เป็นราชสิราภรณ์ สร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทำด้วยทองลงยาประดับเพชร ครั้นถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีรับสั่งให้พระราชสมบัติไปเที่ยวหาซื้อเพชร ได้เพชรเม็ดใหญ่จากเมืองกัลกัตตา ประเทศอินเดีย แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประดับไว้บนยอดพระมหาพิชัยมงกุฎ พระราชทานนามว่า “พระมหาวิเชียรมณี” พระมหาพิชัยมงกุฎรวมพระจอน สูง ๖๖ เซนติเมตร หนัก ๗.๓ กิโลกรัม

          ในสมัยโบราณถือว่า มงกุฎมีค่าสำคัญเท่ากับราชกกุธภัณฑ์อื่น ๆ และพระมหาเศวตฉัตรเป็นสิ่งที่สำคัญสูงสุด เมื่อพระมหากษัตริย์ทรงรับมงกุฎมาแล้วก็เพียงทรงวางไว้ข้างพระองค์ แต่ต่อมาเมื่อประเทศไทยติดต่อกับประเทศในทวีปยุโรปมากขึ้น จึงนิยมตามราชสำนักยุโรปที่ถือว่า ภาวะแห่งความเป็นพระมหากษัตริย์อยู่ที่เวลาได้สวมมงกุฎ ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้ทรงเชิญทูตานุทูตในประเทศไทยร่วมในพระราชพิธีและทรงรับพระมหาพิชัยมงกุฎมาทรงสวม แต่นั้นมาก็ถือว่าพระมหาพิชัยมงกุฎเป็นสิ่งสำคัญในบรรดาเครื่องราชกกุธภัณฑ์ และพระมหากษัตริย์จะทรงสวมพระมหาพิชัยมงกุฎในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

          พระแสงขรรค์ชัยศรี เป็นพระแสงราชศัสตราประจำพระองค์พระมหากษัตริย์ ตัวพระขรรค์เป็นของเก่า ตกจมอยู่ในทะเลสาบเขมร ชาวประมงทอดแหได้เมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๗ เจ้าพระยาอภัยบูเบศร์ (แบน) ให้ข้าราชการนำมาทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชและทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทำด้ามและฝักขึ้นด้วยทองลงยาประดับมณีใช้เป็นเครื่องราชกกุธภัณฑ์

          พระแสงขรรค์ชัยศรีนี้ เฉพาะส่วนที่เป็นองค์พระขรรค์ยาว ๖๔.๕ เซนติเมตร ประกอบด้ามแล้วยาว ๘๙.๘ เซนติเมตร หนัก ๑.๓ กิโลกรัม สวมฝักแล้วยาว ๑๐๑ เซนติเมตร หนัก ๑.๙ กิโลกรัม พระแสงขรรค์ชัยศรีเป็นพระแสงราชศัสตราที่สำคัญที่สุดในพระราชพิธีสำคัญหลายพิธี เช่น พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา

          ธารพระกร ของเดิมทำด้วยไม้ชัยพฤษ์ปิดทอง หัวและสันเป็นเหล็ก คร่ำลายทอง ที่สุดสันเป็นซ่อม ลักษณะเหมือนกับไม้เท้าพระภิกษุที่ใช้ในการชักมหาบังสุกุล เรียกธารพระกรของเดิมนั้นว่า ธารพระกรชัยพฤกษ์ ครั้นถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสร้างธารพระกรขึ้นใหม่องค์หนึ่งด้วยทองคำ ภายในมีพระแสงเสน่า ยอดมีรูปเทวดา จึงเรียกว่า ธารพระกรเทวรูป แต่ที่แท้ลักษณะเป็นพระแสงดาบมากกว่าเป็นธารพระกร แต่ได้ทรงสร้างขึ้นแล้วก็ทรงใช้แทนธารพระกรชัยพฤกษ์ ครั้นมาถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กลับเอาธารพระกรชัยพฤกษ์ออกใช้อีก ยกเลิกธารพระกรเทวรูป เพราะทรงพอพระราชหฤทัยในของเก่า ๆ จึงคงใช้ธารพระกรชัยพฤกษ์อยู่ต่อมา

          วาลวีชนี (พัดและแส้) พัดวาลวีชนีทำด้วยใบตาล แต่ปิดทองทั้ง ๒ ด้าน ด้ามและเครื่องประกอบทำด้วยทองลงยา ส่วนพระแส้ทำด้วยขนจามรี ด้ามเป็นแก้ว ทั้ง ๒ สิ่งนี้พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น “วาลวีชนี” เป็นภาษาบาลี แปลว่า เครื่องโบก ทำด้วยขนวาล ตรงกับที่ไทยเรียกจามรี พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงสร้างแส้ขนจามรีขึ้น

          ฉลองพระบาทเชิงงอน พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเป็นเครื่องราชกกุธภัณฑ์ตามแบบอินเดียโบราณ

          เครื่องราชกกุธภัณฑ์เก็บรักษาไว้ ณ ท้องพระโรงพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ในหมู่พระมหามนเทียร ภายในพระบรมมหาราชวัง เดิมเจ้าพนักงานที่รักษาเครื่องราชูปโภคได้จัดพิธีสมโภชเครื่องราชูปโภคและเครื่องราชกกุธภัณฑ์เป็นประจำทุกปี โดยเลือกทำในเดือน ๖ เพราะมีพระราชพิธีน้อย จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริว่าวันพระบรมราชาภิเษก เป็นวันมงคล ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บำเพ็ญพระราชกุศลสมโภชพระมหาเศวตฉัตรและเครื่องราชกกุธภัณฑ์ขึ้นเป็นครั้งแรกใน พ.ศ. ๒๓๙๔ พระราชทานชื่อว่า พระราชพิธีฉัตรมงคล ต่อมา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เพิ่มการบำเพ็ญพระราชกุศลถวายสมเด็จพระบูรพมหากษัตราธิราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เปลี่ยนเรียกชื่อพระราชพิธีว่า พระราชกุศลทักษิณานุปทาน และ พระราชพิธีฉัตรมงคล สืบมาจนปัจจุบันนี้.


ที่มา : จดหมายข่าวราชบัณฑิตยสถาน  ปีที่ ๔ ฉบับที่ ๔๐ กันยายน ๒๕๓๗