กงสุล

          คำว่า “กงสุล” (consul) ความหมายตามพจนานุกรมศัพท์กฎหมายไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พิมพ์ครั้งที่ ๓ ได้ให้คำนิยามไว้ว่าเป็นทั้งคำนามและคำวิเศษณ์ เมื่อเป็นคำนาม หมายถึง ชื่อตําแหน่งของบุคคลซึ่งรัฐบาลของประเทศหนึ่งแต่งตั้งให้เป็นผู้แทนประจําอยู่ในเมืองต่าง ๆ ของอีกประเทศหนึ่ง เพื่อทําหน้าที่ช่วยเหลือคนชาติของประเทศผู้แต่งตั้งกงสุลที่ไปอยู่ในเมืองต่างประเทศนั้น ๆ และเพื่อดูแลผลประโยชน์ทั่วไปของประเทศผู้แต่งตั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการพาณิชย์ กงสุลมี ๒ ประเภท คือ (๑) กงสุลโดยอาชีพ ได้แก่ ผู้ที่เป็นข้าราชการของประเทศผู้แต่งตั้ง และ (๒) กงสุลกิตติมศักดิ์ ได้แก่ ผู้ได้รับแต่งตั้งซึ่งมิใช่ข้าราชการและไม่ได้รับเงินเดือน ซึ่งอาจเป็นคนชาติของประเทศผู้แต่งตั้ง หรือคนชาติอื่นก็ได้ กงสุลที่มีตําแหน่งเป็นหัวหน้าสถานกงสุลมี ๔ ระดับ คือ กงสุลใหญ่ กงสุล รองกงสุล และตัวแทนฝ่ายกงสุล ความหมายของกงสุลเมื่อเป็นคำวิเศษณ์ หมายถึง เกี่ยวกับกงสุล เช่น สถานกงสุล เขตกงสุล พนักงานฝ่ายกงสุล 

          เมื่อค้นข้อมูลเพิ่มเติมจากหนังสืออภิธานศัพท์คำไทยที่มีต้นเค้าจากภาษาต่างประเทศของกรมศิลปากร ทำให้ทราบว่า กงสุล  เป็นคำยืมมาจากภาษาฝรั่งเศส (Le consul)  คำว่า  consul เกิดจากคำภาษาละติน ๒ คำ ได้แก่ cum และ sella หรือ sedeo แปลว่า นั่งอยู่ด้วยกัน และยังได้ความรู้เพิ่มด้วยว่า  กงสุลใหญ่ ตรงกับภาษาอังกฤษคำว่า consul-general ได้รับแต่งตั้งให้ประจำเมืองใหญ่สำคัญ ๆ มีเขตควบคุมกว้างขวาง หรืออาจจะมีอำนาจควบคุมเขตกงสุล (consular district) หลายเขต รองกงสุล ตรงกับภาษาอังกฤษคำว่า vice-consul ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยกงสุลใหญ่หรือกงสุล และตัวแทนฝ่ายกงสุล ตรงกับภาษาอังกฤษคำว่า consular agent ในสถานที่บางแห่งที่ไม่มีความสำคัญ และไม่มีกงสุลหรือรองกงสุลประจำอยู่ แต่บางครั้งอาจมีความจำเป็นต้องตั้งตัวแทนกงสุลออกไปดูแลผลประโยชน์ กงสุลใหญ่หรือกงสุลที่มีอำนาจเหนือเขตนั้น อาจแต่งตั้งตัวแทนกงสุลออกไปปฏิบัติหน้าที่แทนได้ หวังว่าการนำเสนอเรื่องกงสุลครั้งนี้คงเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านคอลัมน์องค์ความรู้ฯ บ้างนะคะ.

  อารี  พลดี